KIT UDOM RICE

Premium Quality Rice from Ubon Ratchathani, Thailand.

This is default featured slide 2 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 3 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 4 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 5 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

Premium Grade Hom Mali Rice

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ย้อนรอยคมความคิด เจ้าจื่อหยาง

ย้อนรอยคมความคิด เจ้าจื่อหยาง 

           เจ้าจื่อหยาง (Zhao Ziyang) เป็นอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงปี 1987-1989 ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของวาทะทองที่ว่า "Without political reform, the economic reform program was in peril: for instance, the massive corruption would continue" หากไร้ซึ่งการปฏิรูปทางการเมือง การปฏิรูปเศรษฐกิจย่อมอันตรายอย่างยิ่ง เป็นต้นว่าจะนำมาสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างใหญ่หลวง เจ้าจื่อหยางดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทนหูเย่าปัง (Hu Yaobang) ซึ่งถูกบีบให้ลาออกในปี 1987 หูเย่าปังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในพรรค จึงถูกบีบให้ลาออกและเสียชีวิตในปี 1989 ในวันที่หูเย่าปังเสียชีวิต นักศึกษาจำนวนมากมาชุมนุมเพื่อไว้อาลัยให้กับหูเย่าปังที่จัตุรัส เทียนอันเหมิน เมื่อการชุมนุมบานปลายไม่เพียงแต่เป็นการมาไว้อาลัยเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง รวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย จนนำมาสู่ความหวาดวิตกให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับหลี่เผิง (Li Peng) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเหยาอี้หลิน (Yao Yilin) รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

                                         Photo by Sam Beasley on Unsplash

       ในขณะที่เจ้าจื่อหยางมีความคิดที่แตกต่างออกไป เสนอให้เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม และเสนอให้มีการปฏิรูปการเมือง หลังเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เจ้าจื่อหยางถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค และถูกลงโทษโดยการกักบริเวณที่บ้านพักของตนเองเป็นเวลา 16 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2005 แม้ว่าเส้นทางทางการเมืองของเจ้าจื่อหยางจะไม่ราบรื่นนัก แต่เจ้าจื่อหยางทิ้งผลงานอะไรบ้างให้กับเศรษฐกิจจีน ? เจ้าจื่อหยางเริ่มคลุกวงในเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ร่วมการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยร่วมกับหูเย่าปัง โดยมีเฉินหยุน (Chen Yun) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นหัวหน้าทีม ทั้งเจ้าจื่อหยางและหูเย่าปัง เสนอแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เฉินหยุน เสนอการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การจัดการ ควบคุมกลไกราคาให้มีความเสรีทีละน้อย และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการขาดดุลเป็นอันดับแรก ในขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นรอง แม้ว่าเจ้าจื่อหยางจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่ด้วยความลุ่มลึกของเฉินหยุน เจ้าจื่อหยางก็อดที่จะนับถือเฉินหยุนไม่ได้ 

                                      Photo by Natalia Chernenko on Unsplash
            

           ในช่วงเวลาของการปฏิรูปนั้นเจ้าจื่อหยางประจำการที่มณฑลเสฉวน เขาเล็งเห็นว่าเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรต่ำและการผูกขาดโดยรัฐ เจ้าจื่อหยางจึงเสนอให้มีการแก้ไข 2 ประเด็นนี้ ในระยะเริ่มต้นเจ้าจื่อหยางสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร โดยการให้กรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน เกษตรกรจะเป็นเจ้าของที่นา ไม่ใช่เป็นลูกจ้างของรัฐ เมื่อมีการยกระดับราคาสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรมีกำไรจากการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภค บรรลุนโยบายอยู่อุ่น กินอิ่มของ เติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) แต่นโยบายดังกล่าวก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนอีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานในเมืองต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น รัฐบาลจึงต้องชดเชยในส่วนนี้ กอปรกับการลดการผูกขาดของรัฐ ทำให้รัฐต้องหันไปนำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวจากต่างประเทศ ทำให้ต้องใช้เงินตราต่างประเทศมากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจีนต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ เพราะในขณะนั้นเงินทุนภายในประเทศมีไม่เพียงพอ 

            ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศต้องแลกกับการลดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เจ้าจื่อหยางเสนอให้ลดขนาดอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก แต่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเบา เช่น สิ่งทอ สินค้าอุปโภคบริโภค ภาคธุรกิจบริการ และส่งเสริมธุรกิจเอกชน จนทำให้เศรษฐกิจจีนโตถึง 4% ในปี 1981 

Reference 

Pu, B., Chiang, R., and Ignatius, A. (2009). Prisoner of the State the Secret Journal of Premier Zhao Ziyang. Simon & Schuster;New York 


วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564

โควิด-19 กับ เศรษฐกิจอาเซียน

โควิด-19 กับ เศรษฐกิจอาเซียน 

        สถานการณ์โควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในหลายประเทศ ยังทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาลงอีกด้วย แต่ดูเหมือนการควบคุมการแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี โดยเฉพาะจีน ซึ่งเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างบาดแผลอย่างซึมลึกให้กับเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ทั้งการจ้างงานและรายได้ Kevin Chen นักวิจัยอาวุโสจาก IFPRI เสนอให้รัฐบาลเพิ่มการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานอาหารในด้านเทคโนโลยี การผลิต ให้มีความยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย 


 
                                          Photo by Koes nadi on Unsplash

         มาตรการล็อกดาวน์ที่ถูกประกาศใช้ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่า GDP ของภูมิภาคเอเชียจะเติบโตเพียง 0.9% ในขณะที่ GDP ของโลกจะหดตัว 3.5% แต่ GDP ของจีนจะเติบโต 2% ซึ่ง IFPRI คาดการณ์ว่าจีนและเวียดนามจะฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นในเอเชีย ในขณะที่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และพม่า ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง เห็นได้จากจำนวนคนยากจนในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี จากจำนวน 93 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มเป็น 112 ล้านคนในเดือนมิถุนายน ในปี 2563 หลายครัวเรือนต้องสูญเสียงาน กระทบต่อรายได้ ทำให้ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหารอีกด้วย 

          สถานการณ์โควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมอาหารทั้งในระดับการผลิต การค้าปลีก และการตลาด อย่างในจีนมีมาตรการชัตดาวน์ในเมือง ทำให้ธุรกิจร้านปิดตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวด้วยเช่นกัน จึงทำให้ตลาดข้าวมีความอ่อนไหว จะเห็นได้จากเมื่อกลางปี 2563 ราคาข้าวในลาวและไทย ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20%  แต่เมื่อปลายปี 2563 ราคาข้าวปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว 

         อย่างไรก็ตามภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียนจะยังคงเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโควิด-19 แต่ Kevin Chen ยังมองว่ามีสัญญาณการฟื้นตัว โดยเฉพาะจากกรอบความร่วมมือของจีนและอาเซียน ที่เห็นได้ชัดคือ ในปี 2563 จีนนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาลดลง แต่นำเข้าทุเรียนจากไทยและมาเลเซียเพิ่มขึ้น ภายใต้กรอบความร่วมมือ China-ASEAN Free Trade Area และยังมีกรอบความร่วมมือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยชาติอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่จะพยุงเศรษฐกิจในภาวะเช่นนี้ ซึ่งรวมถึงการสต๊อกข้าวในคลังสินค้า 787,000 ตัน ซึ่งมาจากสมาชิกอาเซียนจำนวน 87,000 ตัน และจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จำนวน 700,000 ตัน ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งในชาติสมาชิก 

Reference 

 Chen, K., and Zhan, Y. (2021). East and Southeast Asia. Retrieved from  https://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/134343/filename/134557.pdf June, 27 2021

วันศุกร์ที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สถานการณ์ข้าวในพม่า


 สถานการณ์ข้าวในพม่า

            อุตสาหกรรมโรงสีข้าวเป็นผู้เล่นที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานข้าวในพม่า เนื่องจากเป็นทั้งผู้ซื้อข้าวเปลือกจากชาวนา และเป็นผู้แปรรูป ซึ่งปริมาณข้าวในพม่ากว่า 50% เป็นการบริโภคภายในประเทศ ดังนั้นสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในพม่า และโควิด-19 มีผลกระทบโดยตรงต่ออุตสาหกรรมโรงสีข้าวในพม่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อชาวนาและผู้บริโภคภายในประเทศด้วยเช่นกัน IFPRI สัมภาษณ์โรงสีกว่า 445 แห่งในอิรวดี พะโค และย่างกุ้ง พบว่ากว่า 66% ของจำนวนโรงสีทั้งหมด หยุดการผลิตเนื่องจากความวิตกในสถานการณ์ทางการเมือง และ 21% หยุดการผลิตเนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ในขณะที่โรงสีที่ยังดำเนินการผลิตนั้นกว่า 91% เป็นการสีข้าว Emata ซึ่งเป็นข้าวที่นิยมปลูกกันในฤดูนาปรัง โดยแหล่งผลิตใหญ่อยู่ที่อิรวดี 

             จากการสัมภาษณ์พบว่า สถานการณ์โควิด-19 ซึ่งระบาดมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ส่งผลให้โรงสีได้ชำระเงินล่าช้าจากการขายข้าวสาร และส่งผลการจ่ายเงินซื้อข้าวเปลือกก็ล่าช้าตามไปด้วย ในขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ทำให้การขนส่งติดขัด ค่าขนส่งแพงขึ้น และการตัดสัญญาณอินเตอร์เน็ตและการสื่อสาร ทำให้การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าติดขัด เป็นอุปสรรคด้วย ซึ่งส่งผลต่อความสามารถในการชำระหนี้ นอกจากนั้นสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองยังกระทบต่อการดำเนินงานของสถาบันการเงิน ซึ่งธุรกิจโรงสีต้องใช้เงินสดในการใช้จ่าย ทำให้โรงสีหลายแห่งประสบปัญหาการขาดสภาพคล่อง 


 

            ผลที่ตามมาทำให้ราคาข้าวปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งข้าว Emata ข้าว Pawsan และปลายข้าว และรำ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ก็ปรับตัวลดลงด้วย ในขณะที่ชาวนาต้องเผชิญกับต้นทุนปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชที่มีราคาสูงขึ้น IFPRI จึงแนะนำให้ชาวนาลดการใช้ปุ๋ยลง และลดพื้นที่การเพาะปลูกจนกว่าสถานการณ์จะคลึ่คลายมากขึ้น และ IFPRI ยังเสนอให้ฟื้นฟูระบบธนาคารเพื่อให้การดำเนินธุรกิจคล่องตัว และให้ชาวนาเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น 

Reference 

Myanmar Agriculture Policy Support Activity (MAPSA). 2021. Monitoring the agri-food system in Myanmar: Rice millers – April 2021 survey round. Myanmar SSP Research Note 53. Washington, DC: International Food Policy Research Institute (IFPRI). https://doi.org/10.2499/p15738coll2.134420