หอมมะลิอุบล เสน่ห์แห่งท้องทุ่ง
ท้องทุ่งที่ห่างไกลนอกเมืองอุบลราชธานี ทุ่งนาสีเขียวขจีตัดกับสีของท้องฟ้าได้อย่างลงตัว สายลมโบกพัดเอากลิ่นหอมของไอดินและดอกหญ้า ความร่มรื่นและเรียบง่าย ที่หาได้ยากยิ่งสำหรับชีวิตคนในเมือง วิถีชุมชนที่ผูกพันธ์กับธรรมชาติ ป่าดงพงไพร และข้าวหอมมะลิที่ส่งกลิ่นหอมอ่อนๆ แม้อยู่ในนาข้าว
ผมเห็นชาวนาคนนึงกำลังเดินไปยังท้องทุ่ง
เพื่อถอนวัชพืชในนาข้าว วิถีการทำนาแบบดั้งเดิมยังคงมีให้เห็น ไม่ได้ถูกดูดกลืนไปตามยุคสมัยเสียทั้งหมด
ข้าวหอมมะลิที่นี่กำลังตั้งท้อง แต่ข้าว กข 15 เริ่มออกรวงให้เห็นบ้างแล้ว คนไทยผูกพันธ์กับข้าวมานาน
ทั้งเป็นอาหารหลัก วิถีชีวิต และวัฒนธรรมก็ล้วนผูกพันธ์อยู่กับข้าวทั้งสิ้น
แต่เรารู้จักข้าว โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิกันดีแค่ไหน?
นับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2559
กระทรวงพาณิชย์ออกมาตรฐานข้าวไทยใหม่ ส่งผลให้ข้าวที่ใช้ชื่อว่า THAI HOM
MALI RICE และ THAI JASMINE RICE เป็นข้าวคนละชนิดกัน เพราะการแข่งขันสูงในตลาดโลก
จึงต้องมีข้าวที่เหมาะทั้งผู้บริโภคในตลาดบนและตลาดล่าง ในขณะที่ THAI HOM
MALI RICE คือ Brand ของข้าวถูกวางตัวไว้เพื่อเจาะผู้บริโภคในตลาดบน ซึ่งข้าวที่จะใช้ชื่อว่า THAI
HOM MALI RICE นั้นต้องประกอบด้วยสายพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 ไม่ต่ำกว่า 92%
โดยน้ำหนัก
หรือพูดง่ายๆก็คือ THAI HOM MALI RICE เป็นข้าวเกรด พรีเมียมนั่นเอง
ในขณะที่ THAI
JASMINE RICE คือ Brand ที่ถูกวางไว้เพื่อเจาะตลาดระดับกลาง ซึ่งข้าวที่จะใช้ Brand นี้ได้นั้นต้องประกอบด้วยข้าวในกลุ่มข้าวเจ้านุ่มในสายพันธุ์เดียวกัน
ไม่น้อยกว่า 80% โดยน้ำหนัก
ดังนั้น ภายใต้ Brand THAI HOM MALI RICE จึงต้องแข่งขันในด้านคุณภาพ
ด้วยวิธีการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิของชาวนา และสภาพภูมิศาสตร์ของจังหวัดอุบลราชธานี
จึงมั่นใจได้ว่าข้าวหอมมะลิจังหวัดอุบลราชธานีมีคุณภาพและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้
ตะวันครรไลยามบ่าย คืบคลานปกคลุมนาข้าว
สีแสงทองเหลืองอร่าม กลิ่นหอมโชยมาอีกครา