KIT UDOM RICE

Premium Quality Rice from Ubon Ratchathani, Thailand.

This is default featured slide 2 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 3 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 4 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 5 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

Premium Grade Hom Mali Rice

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

บทเรียนจาก Rurbanomics


บทเรียนจาก Rurbanomics
   
       การฟื้นฟูสังคมชนบทต้องเข้าใจปัญหาของแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนมีความต้องการที่แตกต่างกัน จึงต้องการการพัฒนาที่ต่างกันด้วย อาทิเช่น ในทวีปแอฟริกาต้องการพัฒนาด้านเกษตรกรรม ในเอเชียใต้ต้องกระจายความเจริญสู่ชนบท เพื่อเพิ่มการจ้างงานในชนบทและลดการอพยพเข้าเมือง สำหรับจีนนั้นต้องปรับปรุงการพัฒนาชนบทเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมชนบทเพื่อดึงดูดให้คนหนุ่มสาวทำงานในชนบท แทนการอพยพเข้าเมืองใหญ่ การฟื้นฟูสังคมชนบทตามแนวทาง Rurbanomics นั้นพัฒนาในหลายมิติ อย่างเช่น


      1. สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทอย่างเข้มแข็ง โดยการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานอาหารทั้งกระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การตลาด การบริการ และสร้างโอกาสใหม่ๆในการทำงานให้กับแรงงานในพื้นที่ชนบท และต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปแบบยั่งยืน หัวใจสำคัญของ Rurbanomics ก็คือสังคมเมืองและสังคมชนบทต้องเป็นพาร์ทเนอร์กันอย่างเท่าเทียม

       2. Rurbanomics ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเกษตรกรรมเป็นรากฐาน แต่ก็ไม่ละเลยกิจกรรมนอกภาคเกษตร เพราะการเติบโตของภาคการเกษตรจะทำให้ภาคส่วนอื่นเติบโตตามไปด้วย เช่น ภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป การขนส่ง การบริการทางการเงิน และการบ่มเพาะผู้ประกอบการ

       3. องค์กรท้องถิ่นต้องมีธรรมาภิบาลตรวจสอบได้ มีรายได้ที่เพียงพอในการจัดการท้องถิ่นของตนเอง ประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนท้องถิ่นของตนเอง

      Rurbanomics จึงเป็นอีกแนวทางในการพัฒนาชนบทในประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ





References 
  Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020







ลดความเหลื่อมล้ำด้วย Rurbanomics

ลดความเหลื่อมล้ำด้วย Rurbanomics 
      การฟื้นฟูสังคมชนบทด้วยวิถี Rurbanomics ไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาด้านเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังพลิกฟื้นพื้นที่ชนบทให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่อีกด้วย เพื่อให้คนหนุ่มสาวมีความหวัง สามารถเติบโตและเข้มแข็งต่อไป โดยไม่ต้องอพยพเข้ามาในสังคมเมือง ซึ่งจะเป็นการลดความแออัดและกระจายความเจริญสู่สังคมชนบทอีกด้วย แต่การจะฟื้นฟูสังคมชนบทได้นั้นต้องลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของสังคมชนบท
     1. ลงทุนด้านเศรษฐกิจ Achim Steiner และ Shenggen Fan เสนอว่าพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อวางรากฐานทางด้านการเกษตรและภาคส่วนอื่นๆไปพร้อมกัน เช่น การศึกษา สาธารณสุข  นอกจากนั้นยังต้องลงทุนด้านการสื่อสาร คมนาคม และระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเชื่อมโยงสังคมชนบทกับสังคมเมือง ทำให้เกิดโอกาสทางการตลาดใหม่ๆแก่สินค้าเกษตร ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศบังกลาเทศ เมื่อมีการก่อสร้างถนน ทำให้การขนส่งสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ลดการเน่าเสียของสินค้าเกษตรอันเนื่องมาจากการขนส่งล่าช้า ซึ่งสามารถลดจำนวนประชากรที่ยากจนอย่างมากได้ถึง 3-6% และยังทำให้เด็กที่มีฐานะยากจนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้

       นอกจากนั้นการพัฒนาด้านเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ เช่น คลองชลประทาน การเพาะปลูก การใส่ปุ๋ย และการเก็บเกี่ยว จะสามารถส่งเสริมกิจกรรมนอกภาคการเกษตรได้อีกด้วย  เช่น ในประเทศจีน เมื่อการเกษตรกรรมได้รับการพัฒนา ความสูญเสียอันเกิดจากภัยธรรมชาติลดลง ก็จะนำไปสู่การลงทุนในด้านนวัตกรรม ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม อันจะส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการในสังคมชนบทมากขึ้น ทำให้เพิ่มอาชีพที่หลากหลาย ทำให้พื้นที่ชนบทเป็นที่ที่น่าอยู่ และเป็นความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ได้

      2. การลงทุนด้านเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตและระบบโทรคมนาคมก็เป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยให้ประชากรเข้าถึงแหล่งข้อมูลและราคาตลาด การส่งเสริมให้ประชากรในชนบทสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะเชื่อมโยงสังคมชนบทกับสังคมเมืองได้มากขึ้น ประชากรในชนบทจะสามารถเข้าถึงข้อมูล การบริการทางการเงิน และธนาคารออนไลน์ ซึ่งจะมีส่วนในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการประกอบธุรกิจได้ด้วย


      3. การลงทุนด้านการศึกษา การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ อย่างประเทศในแอฟริกา ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา มีระบบการศึกษาที่ไม่ดีพอสำหรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้ทางเลือกในการประกอบอาชีพของประชากรมีจำกัด การพัฒนาด้านการศึกษาตามแนวทาง Rurbanomics ต้องส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ประชากรชนบทสามารถอ่านออกเขียนได้ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประชากรสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและราคาตลาด จากนั้นจึงพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวะและอุดมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชากรในชนบทสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเสริมทักษะในงานด้านบริการให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงทักษะในโรงงานเท่านั้น การศึกษาต้องเน้นสร้างทักษะเพื่อตอบโจทย์โอกาสทางธุรกิจด้วย

       Rurbanomics คือการพัฒนาสังคมชนบทให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ พัฒนาในทุกมิติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

References 
  Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

Rurbanomics วิถีใหม่แห่งการพัฒนา



Rurbanomics วิถีใหม่แห่งการพัฒนา 

     Rurbanomics คือการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมชนบทให้เชื่อมโยงกับการเติบโตของสังคมเมือง ในฐานะที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่เท่าเทียมและพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งแนวทางการพัฒนาตามวิถี Rurbanomics แบ่งออกเป็น 4 ด้าน

     1. เอาใจใส่ความต้องการของสังคมชนบท
     2. พัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น และสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงสังคมชนบทกับสังคมโลก โดยอยู่บนหลักการของความหลากหลายและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
     3. เชื่อมโยงโอกาสของสังคมชนบทกับสังคมโลก
     4. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และส่งเสริมธรรมาภิบาลในสังคมชนบท


      Rurbanomics เป็นแนวทางการพัฒนาสังคมชนบทในหลากหลายมิติ ไม่เพียงจำเพาะแค่ภาคการเกษตรเท่านั้น จากรายงานของ The International Food Policy Research Institute (IFPRI) ชี้ว่าการพัฒนาภาคเกษตรยังส่งผลให้เกิดการเติบโตของกิจกรรมนอกภาคเกษตรได้ด้วย เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อส่งไปขายในเมือง ก็ต้องอาศัยการพัฒนาระบบขนส่ง คลังสินค้าและการจัดเก็บ การค้าปลีกและการค้าส่ง การบริการทางการเงิน ตลอดทั้งการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ทำให้สังคมชนบทขยายจากภาคเกษตร สู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้ของประชากรในชนบทในที่สุด

       อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในสังคมชนบทยังต้องอาศัยการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะการลงทุนด้านนวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา เพื่อให้การผลิตในภาคการเกษตรน่าสนใจและดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ทำงานในชนบท เพื่อลดความแออัดในสังคมเมือง นอกจากนั้นยังต้องพัฒนาระบบชลประทานเพื่อลดความเสียหายอันเกิดจากภัยธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเอธิโอเปีย เคนยา และไนเจอร์ ลงทุนก่อสร้างระบบชลประทาน ส่งผลให้ประชากรในภาคการเกษตรมีช่วงเวลาในการทำการเกษตรที่ยาวนานขึ้น เพราะมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ และยังเพิ่มความหลากหลายของพืชเศรษฐกิจ และลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติอีกด้วย

     กิจกรรมนอกภาคการเกษตรก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะเป็นกิจกรรมที่จะดึงให้คนยากจนในชนบทยกฐานะให้หลุดพ้นจากความยากจนไปได้ เช่น ในประเทศปากีสถาน พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของงานนอกภาคการเกษตรช่วยสร้างงานให้กับแรงงานในพื้่นที่ชนบท อีกตัวอย่างคือประเทศจีน ที่ยกระดับประชากรกว่า 223 ล้านคนที่ทำงานในภาคการเกษตรในพื้นทีชนบท ให้มาทำงานในกิจกรรมนอกภาคการเกษตร พบว่ามีประชากร 23 ล้านคนเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถสร้างงานให้กับประชากรอีก 119 ล้านคนได้ ซึ่งประชากรในกลุ่มนี้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกถึง 40% ของมูลค่าทั้งหมด


     ถึงแม้ว่าจะมีการเติบโตของกิจกรรมนอกภาคการเกษตร แต่ช่องว่างของรายได้ระหว่างภาคชนบทและภาคตัวเมืองก็ยังห่างกันมาก รัฐบาลจีนจึงออกนโยบายยกระดับภาคชนบทโดยการลงทุนในสาธารณูปโภค เทคโนโลยี และนวัตกรรม การบริการสาธารณะ เช่น การศึกษาและสาธารณสุข และปฏิรูปธรรมาภิบาลของท้องถิ่น ซึ่งเป็นวิถีใหม่แห่งการพัฒนาสังคมชนบทที่ถูกละเลยมานาน





References 

Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020

Fan, S. and Badiane, O. (2019). Rurbanomics: The Path to Rural Revitalization in Africa. Retrieved from https://www.ifpri.org/blog/rurbanomics-path-rural-revitalization-africa 26 June 2020

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ฟื้นฟูภาคชนบทด้วยวิถี Rurbanomics

ฟื้นฟูภาคชนบทด้วยวิถี Rurbanomics
       การฟื้นฟูภาคชนบท (Rural Revitalization) คือการพัฒนาพื้นที่ชนบทในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร ให้มีความปลอดภัย ยั่งยืน และเปลี่ยนภาคชนบทให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ เพื่อลดความแออัดในตัวเมือง ปัจจุบันพบว่าเศรษฐกิจในตัวเมืองขยายตัวมากขึ้น ประชากรที่อาศัยในตัวเมืองมีรายได้ที่มากขึ้น ในขณะที่ประชากรในภาคชนบทกลับทิ้งถิ่นฐานเพื่อไปหาโอกาสที่ดีกว่าในเมืองใหญ่ จึงเป็นโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ภาคชนบทได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตัวเมือง

     
       Rurbanomics จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะเชื่อมโยงภาคชนบทและตัวเมืองเข้าด้วยกัน และเติบโตไปพร้อมกัน Rurbanomics มาจากคำว่า Rural แปลว่า ภาคชนบท Urban แปลว่า ตัวเมือง และ Economics แปลว่า เศรษฐกิจ พูดง่ายๆก็คือ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคชนบทและภาคตัวเมืองเข้าด้วย โดยการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการที่ภาคตัวเมืองขยายตัวขึ้นนั้น ความต้องการอาหารก็มีสูงขึ้นด้วย ไม่เพียงเท่านั้นประชากรในเมืองยังต้องการอาหารที่มีความสะอาด ปลอดภัย และยั่งยืนอีกด้วย และด้วยวิถีที่เร่งรีบของประชากรในเมือง ความต้องการอาหารปรุงสำเร็จ เพียงแค่อุ่นในไมโครเวฟก็สามารถรับประทานได้เลย ก็กำลังเป็นวิถีใหม่ที่คนเมืองต้องการ จึงเป็นโอกาสที่ภาคชนบทจะต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อตอบโจทย์ของคนเมือง  หากการเชื่อมโยงดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง จะสามารถสร้างความหลากหลายในการประกอบอาชีพ ทำให้แรงงานในภาคชนบทได้ประโยชน์ การผลิต การตลาด และการกระจายสินค้าได้รับการพัฒนา ภาคชนบทก็จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของตัวเมืองด้วย

    จากบทความของ Achim Steiner และ Shenggen Fan ยังกล่าวอีกว่า ไม่เพียงแค่ต้องพัฒนาการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารในภาคชนบทเท่านั้น แต่ยังต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ยกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงระดับอาชีวะศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในชนบท เพื่อรองรับงานที่หลากหลายมากขึ้น ยกตัวอย่างการพัฒนาชนบทในจีน อินเดีย และเนปาล ที่มีการลงทุนในด้านการวิจัยด้านการเกษตร พัฒนาด้านการศึกษา และคมนาคม ทำให้ลดความยากจนอย่างมีนัยสำคัญ

     เป็นที่ทราบกันว่า กิจกรรมการเกษตรมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งการแผ้วถางป่า และยังเพิ่มก๊าซเรือนกระจก  แต่การพัฒนาชนบทตามแนว Rurbanomics นั้นไม่เพียงแต่ครอบคลุมปริมณฑลด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมนอกภาคการเกษตรอีกด้วย กล่าวคือต้องพัฒนาการทำการเกษตรและควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย โดยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นการนำของเหลือจากภาคการเกษตรมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ไม่เพียงแต่ช่วยลดโลกร้อน แต่ยังส่งเสริมธุรกิจนอกภาคการเกษตร เป็นการเพิ่มความหลากหลายในการประกอบอาชีพอีกด้วย


       ตัวอย่างเช่น ประเทศไนจีเรีย พบว่าสินค้าอาหารกว่า 45% ต้องเน่าเสีย เนื่องจากขาดแคลนตู้เย็นหรือห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาอาหาร จึงมีแนวคิดในการสร้างห้องเย็นเพื่อรักษาสินค้าอาหารจากพลังงานแสงอาทิตย์

        Rurbanomics เน้นความเชื่อมโยงและการพึ่งพากันระหว่างภาคตัวเมืองและภาคชนบท ซึ่งจะเป็นการดึงศักยภาพของภาคชนบทให้สูงขึ้น และสามารถทำได้มากกว่าแค่ผลิตอาหารป้อนคนเมือง


References 

Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020

Fan, S. and Badiane, O. (2019). Rurbanomics: The Path to Rural Revitalization in Africa. Retrieved from https://www.ifpri.org/blog/rurbanomics-path-rural-revitalization-africa 26 June 2020

Rurbanomics การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน



 Rurbanomics การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน 

         รายงานของ The International Food Policy Research Institute (IFPRI) ระบุว่าภาคในเมืองมีการเติบโต ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลกอาศัยอยู่ในตัวเมือง ในขณะที่ ภายในปี 2050 ประชากรกว่า 2 ใน 3 ของทั้งโลกจะกลายเป็นคนเมือง สวนทางกับภาคชนบทที่ปัจจุบันนี้มีประชากรประมาณ 45.3% ของประชากรทั้งโลกอาศัยอยู่ในภาคชนบท ซึ่งในจำนวนนี้มีประชากรมากถึง 70% ที่อยู่ในสถานะยากจนเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งสาเหตุแห่งความยากจนเกิดจาก ภาวะการว่างงาน การขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ขาดบริการด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย จึงทำให้กลุ่มคนยากจนเหล่านี้ ยากยิ่งที่จะลืมตาอ้าปาก
           ในทศวรรษ 1990 ธนาคารโลกออกมายอมรับว่าภาคชนบทได้รับการละเลยในการพัฒนามานานหลายทศวรรษ ถึงเวลาที่ต้องฟื้นฟูภาคชนบทแล้ว โดยตั้งอยู่บนโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรภาคชนบทจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของภาคตัวเมือง 

           Achim Steiner และ Shenggen Fan เล็งเห็นความเชื่อมโยงระหว่างภาคตัวเมืองและภาคชนบทว่า การที่ตัวเมืองขยายตัวนั้นย่อมมาคู่กับความต้องการด้านอาหารที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย ประชากรในเมืองต้องการความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัย และความยั่งยืน ในขณะที่ภาคชนบทต้องการโอกาสในการพัฒนา จึงเกิดแนวคิด Rurbanomics ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่าง Rural (ภาคชนบท) Urban (ภาคตัวเมือง) Economics (เศรษฐศาสตร์)


            กล่าวคือ Rurbanomics คือการพัฒนาเศรษฐกิจโดยอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาอาศัยกันของภาคตัวเมืองและภาคชนบท ซึ่งการเชื่อมโยงดังกล่าวจะทำให้เกิดการพัฒนา การสร้างงาน และสร้างความหลากหลายในการประกอบอาชีพทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรในชนบท ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้และพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในชนบทได้รับการพัฒนาที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าประชากรในภาคชนบทจะได้รับประโยชน์ที่มากขึ้นจากการขยายตัวของภาคตัวเมือง
         

        ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเซเนกัล ทวีปแอฟริกา ในขณะที่ภาคตัวเมืองเติบโตมากขึ้น พฤติกรรมของประชากรในตัวเมืองก็เปลี่ยนแปลงไป ชีวิตที่ต้องเร่งรีบ จึงนำมาสู่ความต้องการอาหารที่รีบเร่ง อาหารประเภท Ready-to-Cook หรือ Ready-to-Eat หรืออาหารสำเร็จรูปประเภทพร้อมรับประทาน จึงมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคชนบทที่ต้องพัฒนากระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ที่จะต้องผลิตอาหารที่พร้อมรับประทาน ไม่เพียงแค่ผลิตวัตถุดิบเท่านั้น จากการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้เกิดความหลากหลายในการสร้างงานและสร้างอาชีพ ประชากรในชนบทไม่จำเป็นต้องอพยพเข้าไปหางานทำในตัวเมือง Rurbanomics จึงเป็นแนวทางในการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในชนบท

References 

Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020

Fan, S. and Badiane, O. (2019). Rurbanomics: The Path to Rural Revitalization in Africa. Retrieved from https://www.ifpri.org/blog/rurbanomics-path-rural-revitalization-africa 26 June 2020