Premium Grade Hom Mali Rice

วันศุกร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2564

โครงการข้าวยั่งยืน เพื่อเกษตรกร

 โครงการข้าวยั่งยืน เพื่อเกษตรกร

         โครงการข้าวยั่งยืน เกิดจากความร่วมมือระหว่างกรมการข้าวและองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมันหรือ GIZ เข้ามาส่งเสริมให้เกษตรกรในประเทศไทยปลูกข้าว เพื่อลดโลกร้อน คำนึงถึงความสมดุลของระบบนิเวศ ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่พร้อมกับทีมงานโครงการข้าวยั่งยืนหลายครั้ง เห็นความตั้งใจจริงของทีมงานเป็นอย่างมากที่ทุ่มเทและเสียสละเพื่อเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ทั้งการฝึกอบรม การให้ความรู้ หาตลาด และมีเงินโบนัสช่วยเหลือเกษตรกรอีกด้วย 

            โครงการข้าวยั่งยืนเข้ามาพัฒนาเกษตรกรใน 3 มิติ ประกอบด้วย เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม 

      • ด้านเศรษฐกิจ สมาชิกโครงการข้าวยั่งยืน หลังจากขายข้าวแล้ว หากข้าวมีคุณภาพที่ดี รักษาความบริสุทธิ์ของข้าวหอมมะลิ ทางโครงการจะมีเงินโบนัสเพื่อช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกร 
      • ด้านสิ่งแวดล้อม โครงการข้าวยั่งยืนจะมีทีมวิทยากรลงพื้นที่เพื่อให้ความรู้กับเกษตรกร ใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดิน อยู่บนพื้นฐานทางวิชาการ ใช้เทคนิคการตัดข้าวพร้อมกับตัดหญ้า เพื่อลดการใช้ยาปราบวัชพืช นอกจากจะรักษาสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนให้กับเกษตรกรอีกด้วย 
      • ด้านสังคม โครงการข้าวยั่งยืนยังช่วยเกษตรกรหาตลาด ส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้รับประทานข้าวปลอดภัย นับว่าได้ประโยชน์ทั้งเกษตรกรจนถึงผู้บริโภค 

           ทีมงานข้าวยั่งยืนยังพบปัญหาว่า เกษตรกรในพื้นที่หลายคนยังใช้ปุ๋ยไม่ถูกวิธี ยิ่งใส่เยอะยิ่งได้ผลผลิตดี หรือเลือกซื้อปุ๋ยจากราคาที่ถูกเป็นหลัก โดยไม่รู้ว่าปุ๋ยชนิดนั้นไม่เหมาะกับดิน หรือซื้อปุ๋ยตามกระแสหรือตามคำแนะนำของคนขายปุ๋ย จึงทำให้ใช้ปุ๋ยอย่างไม่มีประสิทธิภาพ เกิดเป็นต้นทุนอย่างไม่จำเป็น คุณพ่อมนตรี วิทยากรของโครงการจึงให้ความรู้กับเกษตรกร แนะนำให้ซื้อแม่ปุ๋ยคือปุ๋ยยูเรีย ฟอสฟอรัส และโพแทสซียม มาผสมใช้เอง นอกจากจะมีต้นทุนที่ถูกแล้ว ยังผสมปุ๋ยได้สัดส่วนและเหมาะสมกับสภาพดิน

           สูตรปุ๋ยที่ทีมงานข้าวยั่งยืนแนะนำให้ใช้คือ ปุ๋ยยูเรีย 2 กระสอบ ปุ๋ยโพแทสเซียมและฟอสฟอรัส อย่างละ 1 กระสอบต่อข้าว 10 ไร่ โดยเฉพาะปุ๋ยยูเรียทีมงานข้าวยั่งยืนแนะนำว่า ไม่ควรใช้เยอะเกินไป ข้าวก็เหมือนกับคน กินอิ่มแล้วก็พอ ถึงแม้จะใช้เยอะก็ไม่ใช่ว่าผลผลิตจะดี นอกจากจะเกิดต้นทุนโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังทำให้ข้าวตายหรือเกิดโรค เกิดเชื้อราได้อีกด้วย ในขณะที่โพแทสเซียมและฟอสฟอรัส ละลายช้ากว่าปุ๋ยยูเรีย ไม่ต้องใส่เยอะก็ได้

           ทีมงานโครงการข้าวยั่งยืน ลงพื้นที่จริง จึงรับรู้ถึงปัญหาที่แท้จริงของเกษตรกร และลงไปแก้ปัญหาถึงในพื้นที่ มีปัจจัยการผลิตเช่น เครื่องหยอดข้าว ส่งเสริมให้เกษตรกรทำนาหยอด ซึ่งได้ผลผลิตที่ดีกว่านาหว่าน และไม่ใช้แรงงานเยอะเหมือนนาดำ โครงการข้าวยั่งยืนจึงน่าจะเป็นอีกหนึ่งแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับภาคเกษตรกรรมของไทย