Premium Grade Hom Mali Rice

วันอาทิตย์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2564

ย้อนรอยคมความคิด เจ้าจื่อหยาง

ย้อนรอยคมความคิด เจ้าจื่อหยาง 

           เจ้าจื่อหยาง (Zhao Ziyang) เป็นอดีตเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ในช่วงปี 1987-1989 ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของวาทะทองที่ว่า "Without political reform, the economic reform program was in peril: for instance, the massive corruption would continue" หากไร้ซึ่งการปฏิรูปทางการเมือง การปฏิรูปเศรษฐกิจย่อมอันตรายอย่างยิ่ง เป็นต้นว่าจะนำมาสู่การฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างใหญ่หลวง เจ้าจื่อหยางดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรคแทนหูเย่าปัง (Hu Yaobang) ซึ่งถูกบีบให้ลาออกในปี 1987 หูเย่าปังเป็นผู้ริเริ่มให้มีการปฏิรูปทางการเมืองและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติวัฒนธรรม แต่เมื่อเกิดความขัดแย้งกับผู้ใหญ่ในพรรค จึงถูกบีบให้ลาออกและเสียชีวิตในปี 1989 ในวันที่หูเย่าปังเสียชีวิต นักศึกษาจำนวนมากมาชุมนุมเพื่อไว้อาลัยให้กับหูเย่าปังที่จัตุรัส เทียนอันเหมิน เมื่อการชุมนุมบานปลายไม่เพียงแต่เป็นการมาไว้อาลัยเท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง รวมถึงการเรียกร้องประชาธิปไตยด้วย จนนำมาสู่ความหวาดวิตกให้กับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับหลี่เผิง (Li Peng) ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเหยาอี้หลิน (Yao Yilin) รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น 

                                         Photo by Sam Beasley on Unsplash

       ในขณะที่เจ้าจื่อหยางมีความคิดที่แตกต่างออกไป เสนอให้เจรจากับกลุ่มผู้ชุมนุม และเสนอให้มีการปฏิรูปการเมือง หลังเหตุการณ์นองเลือดที่จัตุรัสเทียนอันเหมิน เจ้าจื่อหยางถูกปลดจากตำแหน่งเลขาธิการพรรค และถูกลงโทษโดยการกักบริเวณที่บ้านพักของตนเองเป็นเวลา 16 ปี จนกระทั่งเสียชีวิตในปี 2005 แม้ว่าเส้นทางทางการเมืองของเจ้าจื่อหยางจะไม่ราบรื่นนัก แต่เจ้าจื่อหยางทิ้งผลงานอะไรบ้างให้กับเศรษฐกิจจีน ? เจ้าจื่อหยางเริ่มคลุกวงในเรื่องเศรษฐกิจ เมื่อได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้ร่วมการฟื้นฟูเศรษฐกิจจีนหลังการปฏิวัติวัฒนธรรม โดยร่วมกับหูเย่าปัง โดยมีเฉินหยุน (Chen Yun) ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจเป็นหัวหน้าทีม ทั้งเจ้าจื่อหยางและหูเย่าปัง เสนอแผนการพัฒนาเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่เฉินหยุน เสนอการพัฒนาเศรษฐกิจภายใต้การจัดการ ควบคุมกลไกราคาให้มีความเสรีทีละน้อย และให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการขาดดุลเป็นอันดับแรก ในขณะที่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นรอง แม้ว่าเจ้าจื่อหยางจะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว แต่ด้วยความลุ่มลึกของเฉินหยุน เจ้าจื่อหยางก็อดที่จะนับถือเฉินหยุนไม่ได้ 

                                      Photo by Natalia Chernenko on Unsplash
            

           ในช่วงเวลาของการปฏิรูปนั้นเจ้าจื่อหยางประจำการที่มณฑลเสฉวน เขาเล็งเห็นว่าเกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น เนื่องจากราคาพืชผลทางการเกษตรต่ำและการผูกขาดโดยรัฐ เจ้าจื่อหยางจึงเสนอให้มีการแก้ไข 2 ประเด็นนี้ ในระยะเริ่มต้นเจ้าจื่อหยางสร้างแรงจูงใจให้กับเกษตรกร โดยการให้กรรมสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน เกษตรกรจะเป็นเจ้าของที่นา ไม่ใช่เป็นลูกจ้างของรัฐ เมื่อมีการยกระดับราคาสินค้าเกษตร ทำให้เกษตรกรมีกำไรจากการทำเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น จึงเป็นแรงจูงใจให้เกษตรกรเพิ่มผลผลิตมากขึ้น ส่งผลให้เกษตรกรมีข้าวเพียงพอต่อการบริโภค บรรลุนโยบายอยู่อุ่น กินอิ่มของ เติ้งเสี่ยวผิง (Deng Xiaoping) แต่นโยบายดังกล่าวก็ต้องแลกมาด้วยต้นทุนอีกอย่างหนึ่ง คือเมื่อราคาสินค้าเกษตรเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผู้ใช้แรงงานในเมืองต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น รัฐบาลจึงต้องชดเชยในส่วนนี้ กอปรกับการลดการผูกขาดของรัฐ ทำให้รัฐต้องหันไปนำเข้าสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวจากต่างประเทศ ทำให้ต้องใช้เงินตราต่างประเทศมากขึ้น หากเป็นเช่นนี้ต่อไปจีนต้องพึ่งพาเงินทุนจากต่างประเทศ เพราะในขณะนั้นเงินทุนภายในประเทศมีไม่เพียงพอ 

            ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเหตุผลว่าการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศต้องแลกกับการลดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เจ้าจื่อหยางเสนอให้ลดขนาดอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก แต่ส่งเสริมอุตสาหกรรมเบา เช่น สิ่งทอ สินค้าอุปโภคบริโภค ภาคธุรกิจบริการ และส่งเสริมธุรกิจเอกชน จนทำให้เศรษฐกิจจีนโตถึง 4% ในปี 1981 

Reference 

Pu, B., Chiang, R., and Ignatius, A. (2009). Prisoner of the State the Secret Journal of Premier Zhao Ziyang. Simon & Schuster;New York