ก้าวแรกของการเปิดประเทศของจีน
ผลพวงจากการใช้นโยบายพึ่งพาตนเอง (Self-reliance) และปิดประเทศ (the Closed-door policy)ของจีน ในสมัยของเหมาเจ๋อตง ทำให้จีนประสบปัญหาในหลายๆอย่าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือด้านเกษตรกรรม ในขณะที่จีนทุ่มเทงบประมาณด้านชลประทานมากมายแต่กลับได้ผลผลิตน้อยนิด ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เจ้าจื่อหยางตระหนักเป็นอย่างดีว่าสาเหตุเกิดจากการปลูกพืชที่ไม่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ หากปลูกพืชที่เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ และส่งออกไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ต้องการ จะเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณและนำไปใช้กับสิ่งที่เกิดประโยชน์มากขึ้น
Photo by Zetong Li on Unsplashปี 1979 เจ้าจื่อหยางเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ พบว่าทางตอนใต้ของฝรั่งเศส มีสภาพภูมิอากาศแห้งและไม่มีฝนในช่วงหน้าร้อน แทนที่ฝรั่งเศสจะลงทุนสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ แต่กลับเลือกจะปลูกองุ่นที่เหมาะกับสภาพอากาศ ซึ่งสร้างความมั่งคั่งให้กับเกษตรกร ในอังกฤษก็เช่นกันฝั่งตะวันออก ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ เหมาะกับการปลูกข้าวสาลี ในขณะที่ฝั่งตะวันตกได้รับแสงแดดน้อยกว่า จึงเลือกที่จะปลูกหญ้า และฝั่งตะวันตกจึงกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม อีกประเทศคือกรีซ ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งและไม่มีฝน คล้ายกับสภาพอากาศในส่านซีของจีน แต่สำหรับจีนแล้วลงทุนเพื่อพัฒนาชลประทานมากมายเพื่อปลูกข้าว แต่กลับได้ผลผลิตที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และเกษตรกรก็ยังประสบปัญหาอดอยากอีกด้วย แต่กรีซกลับปลูกต้นมะกอกและพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันมะกอก ซึ่งสร้างความมั่งคั่งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือแม้ว่าเกษตรกรในกรีซจะไม่ได้ปลูกข้าว แต่ปลูกมะกอกก็มีเงินซื้อข้าวได้เช่นกัน กรีซประสบความสำเร็จเช่นนี้ได้ เพราะนโยบายการเปิดประเทศ
Photo by Kirill Sharkovski on Unsplash
เจ้าจื่อหยางพบว่าในจีนกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในเหอหนานสภาพภูมิประเทศเป็นดินทราย เหมาะกับการปลูกถั่วลิสง แต่ด้วยนโยบายปิดประเทศเกษตรกรไม่มีทางเลือกนอกจากปลูกข้าวโพด เพื่อให้มีอาหารที่เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ แต่ผลกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะสภาพภูมิประเทศที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าวโพด ผลผลิตจึงต่ำ เกษตรกรประสบความยากลำบากยิ่ง ในซานตงก็ประสบปัญหาเช่นกัน เนื่องจากซานตงมีปัญหาดินเค็ม เหมาะกับการปลูกฝ้าย แต่เนื่องจากนโยบายปิดประเทศ หากปลูกฝ้ายประชาชนในพื้นที่จะมีอาหารที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภค เกษตรกรจึงไม่มีทางเลือกต้องปลูกข้าวสาลี แต่เนื่องจากข้าวสาลีไม่เหมาะกับการปลูกในดินเค็ม ผลผลิตจึงตกต่ำ ประชาชนในพื้นที่ก็ยังต้องประสบกับความอดอยากเช่นเดิม
ในปี 1983 เจ้าจื่อหยางตัดสินใจปลูกฝ้ายในพื้นที่ซานตง ผลพลอยได้ที่ได้จากการผลิตฝ้ายก็คือเมล็ดฝ้าย เมื่อนำไปสกัด จะได้น้ำมัน ซึ่งน้ำมันจากเมล็ดฝ้ายสามารถใช้เป็นปุ๋ย ลดความเค็มของดินได้ด้วย เมื่อมีฝ้ายมากขึ้นจีนก็ส่งออกฝ้าย และนำเงินจากการขายฝ้ายนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศแทน การเปิดประเทศช่วยให้เกษตรกรของจีนมีรายได้มากขึ้น และไม่ต้องปลูกพืชที่ไม่เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ แต่ปลูกพืชที่สามารถสร้างรายได้ที่สูงกว่า และนำเข้าในสิ่งที่ต้องการ แนวคิดดังกล่าวดูนำไปใช้ในอุตสากรรมเหล็กด้วย แทนที่จะถลุงเหล็กเอง ก็นำเข้าแร่เหล็กที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เพื่อป้อนโรงงานรีดเหล็กและเหล็กเส้นในประเทศ
Reference
Pu, B., Chiang, R., and Ignatius, A. (2009). Prisoner of the State the Secret Journal of Premier Zhao Ziyang. Simon & Schuster;New York