Premium Grade Hom Mali Rice

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2564

ยืนหยัดอย่างยั่งยืน

 ยืนหยัดอย่างยั่งยืน 

        หลายวันมานี้ทีมงานข้าวยั่งยืนลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกร ในหลายหมู่บ้านในอำเภอตระการพืชผล การลงพื้นที่ในครั้งนี้ผมรู้สึกขอบคุณทีมงามข้าวยั่งยืนที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง เพื่อคนในพื้นที่และแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง  ทำให้ผมได้รับความรู้จากคุณพ่อมนตรี พรหมลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการและวิทยากรด้วย จากการลงพื้นที่ทำให้ผมรับรู้ถึงปัญหาว่า เกษตรกรหลายคนใช้ปุ๋ยตามอำเภอใจ หรือเลือกปุ๋ยตามคำแนะนำจากร้านค้า โดยขาดความรู้ที่แท้จริง คุณพ่อมนตรีจึงรวบรวมความรู้และประสบการณ์กว่า 40 ปี เขียนเป็นคู่มือถึงวิธีการปลูกข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน  

        

      ส่วนหนึ่งของการบรรยายคุณมนตรีเล่าว่า เกษตรกรไม่ได้ใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดิน หรือเลือกใช้ปุ๋ยที่มีราคาถูกมากกว่าปุ๋ยที่เหมาะกับต้นข้าว ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผลผลิตลดลง ต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องมีความรู้เรื่องปุ๋ยและความแตกต่างของปุ๋ยแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่น ปุ๋ยยูเรียช่วยบำรุงใบ ฟอสฟอรัสช่วยในการแตกกอ โพแทสเซียมบำรงรวงข้าว แต่ฟอสฟอรัสกับโพแทสเซียมเป็นปุ๋ยที่ละลายช้า ดังนั้นไม่ต้องใส่เยอะ หากเกษตรกรมีความรู้เช่นนี้ก็ใช้ปุ๋ยอย่างพอเหมาะ ลดต้นทุนในการทำนาได้

        โดยสัดส่วนที่เหมาะสมก็คือยูเรีย 20 กก. ต่อฟอสฟอรัส 5 กก. ต่อโพแทสเซียม 5 กก. ใส่หลังนาดำประมาณ 10 วันหรือนาหว่าน 1 เดือน แต่ถ้าเป็นช่วงฝนไม่ดี ต้องทะยอยใส่ปุ๋ยละน้อย สำหรับช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้องใช้ยูเรีย 5 กก.ต่อไร่ก็พอ ถ้าใช้เยอะกว่านั้นจะทำให้ข้าวเกิดเชื้อราหรือตายได้ สำหรับพื้นที่ในภาคอีสานนั้นส่วนใหญ่เป็นนาดินทราย การใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 ไม่เหมาะกับนาดินทราย ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องเลือกใช้ปุ๋ยที่เหมาะกับสภาพดิน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี คุ้มค่ากับการลงทุน

          

       โครงการข้าวยั่งยืนต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ในขณะที่ข้าวต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก ข้าวไทยกำลังได้รับความนิยมลดลงเนื่องจากมีราคาสูง ในขณะที่ข้าวจากประเทศคู่แข่ง มีคุณภาพใกล้เคียงข้าวไทยแต่ราคาถูกกว่า เกษตรกรจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำนา โดยลดต้นทุน หนึ่งในเคล็ดลับที่คุณพ่อมนตรีบรรยายคือลดการใช้ยาฆ่าหญ้า เพราะนอกจากทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ทำให้กบเขียดในท้องนาล้มตาย ยังเป็นต้นทุนให้กับเกษตรกรด้วย คุณพ่อมนตรีจึงให้เกษตรกรตัดต้นข้าวพร้อมกับต้นหญ้าในช่วง 1 เดือนก่อนข้าวตั้งท้อง จะสามารถกำจัดวัชพืชได้โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า

          

         โครงการข้าวยั่งยืน ส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้ยาฆ่าหญ้า ทำพันธุ์ข้าวเอง ใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี ประหยัดต้นทุน จึงจะสามารถทำให้ข้าวไทยยืนหยัดในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน