Premium Grade Hom Mali Rice

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

กบคืนนา ปลาคืนทุ่ง ข้าวยั่งยืน

 กบคืนนา ปลาคืนทุ่ง ข้าวยั่งยืน 

        ผมลงพื้นที่กับทีมงานข้าวยั่งยืน มีคุณพ่อมนตรี พรหมลักษณ์ เป็นหัวหน้าและเป็นวิทยากรในการลงพื้นที่ด้วย ส่วนหนึ่งของการบรรยายคุณพ่อมนตรีเล่าให้ฟังว่า ข้าวไทยในปัจจุบันเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะจากอินเดียและเวียดนาม แม้ว่าข้าวไทยจะมีคุณภาพสูงกว่าคู่แข่ง แต่หากราคาสูงกว่าคู่แข่งมากข้าวไทยก็จะสูญเสียตลาดในต่างประเทศ ในขณะที่ชาวนามีต้นทุนสูง เนื่องจากราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นมาก ดังนั้นคุณพ่อมนตรี จึงอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยแก่เกษตรกร เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน 

        ข้าวมีความจำเป็นต้องการปุ๋ยยูเรีย แต่หากใส่ปุ๋ยยูเรียเยอะเกินไป จะทำให้ข้าวเป็นโรค ข้าวล้ม หรือข้าวตาย นอกจากจะทำให้ผลผลิตเสียหายแล้ว เกษตรกรยังแบกรับต้นทุนสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นเกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม คุณพ่อมนตรีบอกอีกว่า สำหรับพื้นที่นาในภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นนาดินทราย สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมคือ 16-16-8 ในขณะที่เกษตรกรจำนวนมากเคยชินกับการใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ซึ่งไม่เหมาะกับการปลูกข้าว แต่เหมาะกับการปลูกมันสำปะหลัง นอกจากจะไม่ได้ผลผลิตตามที่คาดไว้แล้ว ยังมีต้นทุนที่สูงโดยไม่จำเป็นอีกด้วย 

         ดังนั้นข้าว 1 ไร่ ควรใช้ปุ๋ยยูเรียไม่เกิน 10 กก. ปุ๋ยโพแทสเซียมและฟอสฟอรัส ไม่เกิน 5 กก. เกษตรกรควรซื้อปุ๋ยยูเรีย 2 กระสอบ และปุ๋ยโพแทสเซียมและฟอสฟอรัส อย่างละ 1 กระสอบ ต่อข้าว 10 ไร่ จะเป็นการใช้ปุ๋ยเหมาะกับค่าการวิเคราะห์ดิน ได้ผลผลิตดีและประหยัดต้นทุนได้ดีอีกด้วย 

         เมล็ดพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาของเกษตรกร นอกจากจะเป็นต้นทุนแล้วยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย คุณพ่อมนตรีจึงโน้มน้าวให้เกษตรกร ทำเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง โดยกันพื้นที่ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อทำเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะ เพาะปลูกให้พิถีพิถัน เกี่ยวมือ คัดเลือกพันธุ์ปลอมปนออก เช่นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกปี

       

         นอกจากการใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีแล้ว การตัดหญ้าก่อนข้าวตั้งท้อง 1 เดือนและใส่ปุ๋ยเพื่อให้ข้าวแตกกอใหม่ ก็เป็นอีกเทคนิคที่ช่วยประหยัดยาฆ่าหญ้าได้อีกด้วย นอกจากจะประหยัดต้นทุนแล้ว ยังสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ ลดโลกร้อน คืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับท้องนา ดั่งคำว่ากบคืนนาปลาคืนทุ่ง