Premium Grade Hom Mali Rice

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ฟื้นฟูภาคชนบทด้วยวิถี Rurbanomics

ฟื้นฟูภาคชนบทด้วยวิถี Rurbanomics
       การฟื้นฟูภาคชนบท (Rural Revitalization) คือการพัฒนาพื้นที่ชนบทในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร ให้มีความปลอดภัย ยั่งยืน และเปลี่ยนภาคชนบทให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ เพื่อลดความแออัดในตัวเมือง ปัจจุบันพบว่าเศรษฐกิจในตัวเมืองขยายตัวมากขึ้น ประชากรที่อาศัยในตัวเมืองมีรายได้ที่มากขึ้น ในขณะที่ประชากรในภาคชนบทกลับทิ้งถิ่นฐานเพื่อไปหาโอกาสที่ดีกว่าในเมืองใหญ่ จึงเป็นโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ภาคชนบทได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตัวเมือง

     
       Rurbanomics จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะเชื่อมโยงภาคชนบทและตัวเมืองเข้าด้วยกัน และเติบโตไปพร้อมกัน Rurbanomics มาจากคำว่า Rural แปลว่า ภาคชนบท Urban แปลว่า ตัวเมือง และ Economics แปลว่า เศรษฐกิจ พูดง่ายๆก็คือ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคชนบทและภาคตัวเมืองเข้าด้วย โดยการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการที่ภาคตัวเมืองขยายตัวขึ้นนั้น ความต้องการอาหารก็มีสูงขึ้นด้วย ไม่เพียงเท่านั้นประชากรในเมืองยังต้องการอาหารที่มีความสะอาด ปลอดภัย และยั่งยืนอีกด้วย และด้วยวิถีที่เร่งรีบของประชากรในเมือง ความต้องการอาหารปรุงสำเร็จ เพียงแค่อุ่นในไมโครเวฟก็สามารถรับประทานได้เลย ก็กำลังเป็นวิถีใหม่ที่คนเมืองต้องการ จึงเป็นโอกาสที่ภาคชนบทจะต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อตอบโจทย์ของคนเมือง  หากการเชื่อมโยงดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง จะสามารถสร้างความหลากหลายในการประกอบอาชีพ ทำให้แรงงานในภาคชนบทได้ประโยชน์ การผลิต การตลาด และการกระจายสินค้าได้รับการพัฒนา ภาคชนบทก็จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของตัวเมืองด้วย

    จากบทความของ Achim Steiner และ Shenggen Fan ยังกล่าวอีกว่า ไม่เพียงแค่ต้องพัฒนาการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารในภาคชนบทเท่านั้น แต่ยังต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ยกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงระดับอาชีวะศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในชนบท เพื่อรองรับงานที่หลากหลายมากขึ้น ยกตัวอย่างการพัฒนาชนบทในจีน อินเดีย และเนปาล ที่มีการลงทุนในด้านการวิจัยด้านการเกษตร พัฒนาด้านการศึกษา และคมนาคม ทำให้ลดความยากจนอย่างมีนัยสำคัญ

     เป็นที่ทราบกันว่า กิจกรรมการเกษตรมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งการแผ้วถางป่า และยังเพิ่มก๊าซเรือนกระจก  แต่การพัฒนาชนบทตามแนว Rurbanomics นั้นไม่เพียงแต่ครอบคลุมปริมณฑลด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมนอกภาคการเกษตรอีกด้วย กล่าวคือต้องพัฒนาการทำการเกษตรและควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย โดยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นการนำของเหลือจากภาคการเกษตรมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ไม่เพียงแต่ช่วยลดโลกร้อน แต่ยังส่งเสริมธุรกิจนอกภาคการเกษตร เป็นการเพิ่มความหลากหลายในการประกอบอาชีพอีกด้วย


       ตัวอย่างเช่น ประเทศไนจีเรีย พบว่าสินค้าอาหารกว่า 45% ต้องเน่าเสีย เนื่องจากขาดแคลนตู้เย็นหรือห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาอาหาร จึงมีแนวคิดในการสร้างห้องเย็นเพื่อรักษาสินค้าอาหารจากพลังงานแสงอาทิตย์

        Rurbanomics เน้นความเชื่อมโยงและการพึ่งพากันระหว่างภาคตัวเมืองและภาคชนบท ซึ่งจะเป็นการดึงศักยภาพของภาคชนบทให้สูงขึ้น และสามารถทำได้มากกว่าแค่ผลิตอาหารป้อนคนเมือง


References 

Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020

Fan, S. and Badiane, O. (2019). Rurbanomics: The Path to Rural Revitalization in Africa. Retrieved from https://www.ifpri.org/blog/rurbanomics-path-rural-revitalization-africa 26 June 2020