Premium Grade Hom Mali Rice

วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

พัฒนาชนบทอย่างไรให้เข้มแข็ง (1)

พัฒนาชนบทอย่างไรให้เข้มแข็ง (1)

           Rob Vos และ Andrea Cattaneo เสนอแนวทางในการพัฒนาชนบทให้เข้มแข็ง และได้ประโยชน์จากการเติบโตของสังคมเมือง 3 แนวทาง คือการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้า และอบรมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

          ลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งมีความจำเป็นยิ่งในการทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมืองเข้มแข็งขึ้น การก่อสร้างถนน ไฟฟ้า คลังสินค้า ล้วนแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวชนบทดีขึ้น นอกจากนั้นการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับปรุงปัจจัยการผลิต ก็เป็นส่วนเสริมทำให้ชาวชนบทมีรายได้ที่สูงขึ้น และลดความผันผวนอันเกิดจากราคาตลาด หรือภัยธรรมชาติได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานมันฝรั่งในอินเดีย มีการสร้างห้องเย็นเพื่อเก็บรักษามันฝรั่งให้กับชาวสวน

   
        ซึ่งมีเกษตรกรให้ความสนใจเป็นอันมาก จากเดิมมีเกษตรกรใช้ห้องเย็นแค่ 40% ของเกษตรทั้งหมดในปี 2000 แต่ปัจจุบัน มีเกษตรกรใช้ถึง 95% แล้ว ห้องเย็นไม่เพียงลดความเสียหายของมันฝรั่งเท่านั้น แต่ยังเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรด้วย เดิมทีมันฝรั่งสามารถเก็บได้เพียง 3 เดือน แต่ห้องเย็นสามารถยืดอายุของมันฝรั่งได้นาน 7 เดือน ช่วงที่มันฝรั่งออกมาเยอะ ราคาตก เกษตรก็สามารถเก็บมันฝรั่งไว้ในห้องเย็นเพื่อชะลอการขาย นอกจากนั้นมันฝรั่งที่เก็บในห้องเย็นยังสามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้อีกด้วย
 
     
       ห้องเย็นยังช่วยทำให้การเชื่อมโยงตลาดระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทให้ดีมากขึ้นอีกด้วย ผู้บริโภคเห็นว่าการเก็บมันฝรั่งในห้องเย็น ทำให้เก็บรักษาคุณภาพมันฝรั่งไว้ได้ ไม่เน่าเสีย จึงมีความต้องการมันฝรั่งจากห้องเย็นมากขึ้น และยินดีซื้อในราคาที่สูงขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตเองก็สามารถชะลอการขาย ในช่วงราคามันฝรั่งตกต่ำได้อีกด้วย นับเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

    
       นอกจากอินเดียแล้ว บราซิลเองก็เช่นกัน มีการลงทุนก่อสร้างถนนและการขนส่ง ทำให้ลดเวลาในการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนของเกษตรกร ทำให้เข้าถึงตลาดในสังคมเมืองได้มากขึ้น ในยุโรปมีการลงทุนสร้างโรงฆ่าสัตว์ชุมชน ระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน หรือในตอนใต้ของชิลีที่มีการปรับปรุงถนนและการขนส่ง ทำให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น จึงนำไปสู่การลงทุนใหม่ๆ เช่น การเลี้ยงปลาแซลมอน ซึ่งเป็นการเพิ่มการจ้างงานในชนบทโดยเฉพาะแรงงานสตรี  ในนิคารากัว มีการก่อสร้างถนน โรงงานแปรรูปนม และห้องเย็น ซึ่งเป็นเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพิ่มรายได้และขยายตลาดได้มากขึ้น

      ซึ่งการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เพราะเป็นการลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการจ้างงานอีกด้วย

References 

Vos, R. and Cattaneo, A. (2020). Smallholders and Rural People Making Food System Value Chains Inclusive. Retrieved from http://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/133646/filename/133857.pdf July, 3 2020