Premium Grade Hom Mali Rice

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อุตสาหกรรมอาหารบนวิถี Rurbanomics

อุตสาหกรรมอาหารบนวิถี Rurbanomics 
       
      ตั้งแต่ทศวรรษปี 1990 เป็นต้นมาแม้ว่าพัฒนาการอุตสาหกรรมจะเติบโตและก้าวไกลไปมาก แต่จำนวนประชากรที่มีฐานะยากจนกลับเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท นั่นหมายความว่าประชากรในชนบทไม่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของสังคมเมือง หลายคนเพื่อหลีกหนีจากความยากจนผันตัวเป็นแรงงานในสังคมเมือง แต่ก็ไม่ได้ทำให้รายได้เพิ่มสูงขึ้น ผู้ที่เผชิญกับความยากจนเช่นนี้ โดยมากจะเป็นครัวเรือนขนาดย่อม (Smallholder) ที่ถือครองที่ดินไม่เกิน 2 เฮกเตอร์ (ประมาณ 12 ไร่) ที่อาศัยอยู่ในชนบท ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากว่า ครัวเรือนขนาดย่อมมีบทบาทอย่างมากในห่วงโซ่อุปทานอาหาร พวกเขาสร้างมูลค่ามากกว่า 36% ของมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารของทั้งโลก แต่กลับได้ประโยชน์จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมน้อยนัก  

จากรายงานของ The International Food Policy Research Institute หรือ IFPRI ระบุว่าประชากรที่มีฐานะยากจนมีประมาณ 1.5 พันล้านคน กระจายตัวอยู่ในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนขนาดย่อม ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งสิ้น 608 ล้านฟาร์ม ในจำนวนนี้ 510 ล้านฟาร์ม ถือครองที่ดินไม่เกิน 2 เฮกเตอร์ หรือคิดเป็นประมาณ 84% ในจำนวนนี้มี 70% ที่ถือครองที่ดินน้อยกว่า 1 เฮกเตอร์ ครัวเรือนขนาดย่อมที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเหล่านี้คิดเป็นจำนวนถึง 11% ของผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งโลก 
     
         ครัวเรือนขนาดย่อมส่วนใหญ่ใช้แรงงานจากคนในครอบครัว เพาะปลูกเพื่อการดำรงชีพ จึงแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมอาหารที่เติบโตขึ้น จึงทำให้ตกอยู่ในความเสี่ยงแห่งความยากจนสูงมาก ประมาณ 20%ของประชากรในภาคการเกษตรมีรายได้เพียง 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน 30% มีรายได้เพียง 3.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน สาเหตุแห่งความยากจนล้วนเกิดจาก การขาดแคลนที่ดินทำกิน ไม่ได้รับการศึกษา หรือเข้าไม่ถึงการบริการสาธารณะ เช่น แหล่งเงินทุน การตลาด และระบบชลประทาน จึงต้องเผชิญความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทำอย่างไรประชากรที่ยากจนในพื้นที่เกษตรกรรมอันห่างไกลจึงจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ? 


       อุตสาหกรรมอาหารเติบโตเป็นอย่างมากในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ประชากรในเมืองเป็นผู้บริโภคในห่วงโซ่อุปทานอาหารถึง 70% นอกจากนั้นการเติบโตของรายได้ในสังคมเมืองยังทำให้พฤติกรรมการบริโภคของประชากรในสังคมเมืองเปลี่ยนไป ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย จึงนับเป็นโอกาสที่ประชากรในชนบท ในการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานอาหารมากขึ้น ทั้งด้านการตลาดและการแปรรูป จึงต้องลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชนบท เพื่อให้ประชากรในชนบทได้รับประโยชน์จากสังคมเมืองได้มากขึ้น


References 


Vos, R. and Cattaneo, A. (2020). Smallholders and Rural People Making Food System Value Chains Inclusive. Retrieved from http://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/133646/filename/133857.pdf July, 3 2020