Premium Grade Hom Mali Rice

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

แนวทางการพัฒนาชนบทแบบ Rurbanomics

แนวทางการพัฒนาชนบทแบบ Rurbanomics
      
           Rurbanomics คือการเชื่อมโยงสังคมชนบทกับสังคมเมืองด้วยเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากคำว่า Rural (ชนบท) Urban (ในเมือง) และ Economics (เศรษฐศาสตร์) ในยุคปัจจุบันพบว่าประชากรในสังคมเมืองมีความต้องการบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น ห่วงโซ่อุปทานอาหารมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น หรือที่ Rob Vos และ Andrea Cattaneo เรียกว่า Quiet Revolution หรือการปฏิวัติเงียบ จึงเป็นโอกาสสำหรับสังคมชนบทที่อยู่บนพื้นฐานของเกษตรกรรมได้รับประโยชน์จากสังคมเมืองมากขึ้น แต่สังคมชนบทยังต้องพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน มีเครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาช่วย จึงจะสามารถเข้าถึงตลาดได้ เพื่อไม่ให้ประชากรในชนบทถูกทิ้งไว้ข้างหลัง Rob Vos และ Andrea Cattaneo จึงเสนอแนวทางในการพัฒนาชนบท ตามแนว Rurbanomics 4 แนวทาง คือ การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน การส่งเสริมธุรกิจการเกษตร การพัฒนาเทคโนโลยี และ เสริมศักยภาพของชาวนาและการจัดการความเสี่ยง



           1. การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน จากข้อมูล IFPRI ระบุว่า 84% ของเกษตรกรรายย่อย ถือครองที่ดินน้อยกว่า 12 ไร่ และหลายประเทศในแอฟริกาและเอเชียใต้ ขนาดการถือครองที่ดินยังมีแนวโน้มลดลงด้วย จึงเป็นกับดักรายได้และเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลผลิตและการพัฒนา Rob Vos และ Andrea Cattaneo เสนอให้ขยายการถือครองที่ดินของเกษตรกรรายย่อย เพื่อที่เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากขนาด หรือ Economies of Scale ซึ่งการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน อาจจะให้สิทธิในการถือครอง หรือการให้เช่าก็ได้ เช่น ในบังกลาเทศ 40%ของการถือครองเกิดจากการเช่าที่ดินทำกิน หรือการใช้ที่ดินภายใต้การบริหารจัดการ นอกจากนั้นภาครัฐยังต้องสนับสนุนด้านเครื่องจักรที่ทันสมัยแก่เกษตรกร ซึ่งอาจจะให้เกษตรกรเช่า หรือการใช้ร่วมกัน เช่น ในเอเชียตะวันออกส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันและใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกัน

        
          2. ส่งเสริมธุรกิจการเกษตร ตามแนวคิดของ Rob Vos และ Andrea Cattaneo คือให้ภาคธุรกิจร่วมกับภาคเกษตรกรรมทำพันธะสัญญาร่วมกันเป็นการตลาดแบบองค์รวม (Collective Marketing) เนื่องจากการทำเกษตรของเกษตรกรรายย่อย ประสบปัญหาหลายอย่าง ขาดแคลนเงินทุน ปัจจัยการผลิต และผลิตสินค้าไม่ได้คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด จึงทำให้ขายสินค้าในราคาต่ำ ดังนั้นเกษตรกรรายย่อยจึงต้องรวมกลุ่มกันในการผลิต และขายให้กับธุรกิจที่ทำพันธะสัญญาด้วย ในขณะที่ภาคธุรกิจสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น เงินทุน โดยใช้ผลผลิตเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ลงทุนคลังสินค้า และเครื่องจักรให้กับเกษตรกร ในขณะที่เกษตรกรต้องผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ
              
          การทำการตลาดแบบองค์รวมนั้นเกษตรกรต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน และต้องให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ผู้ซื้อต้องการ ซึ่งหากทำได้จริงการรวมกลุ่มกันและสินค้ามีคุณภาพ จะทำให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นได้ รวมทั้งอาจจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย เพราะสามารถใช้ปัจจัยการผลิต เช่น รถแทรกเตอร์ หรือยานพาหนะ ร่วมกันได้



        แม้ว่าการตลาดองค์รวมจะเป็นทางออกสำหรับเกษตรกรรายย่อยก็จริง แต่การปฏิบัติยังประสบปัญหาอีกมากเช่น ขาดความโปร่งใส ตัวแทนกลุ่มอาจจะเจรจาราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือกลุ่มเกษตรกรที่ขาดผู้นำที่จะสามารถโน้มน้าวสมาชิกให้มีความเข้มแข็ง หรือขาดความเป็นเอกภาพภายในกลุ่ม เช่น เกษตรกรบางรายอาจคิดว่าสินค้าของตนเองดีกว่าของสมาชิกอื่น ควรที่จะได้รับราคาสูงกว่าสมาชิกคนอื่นเป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรควรได้รับการศึกษาและการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจในการทำงาน และเข้าใจกลไกตลาด จึงทำให้การตลาดแบบองค์รวมประสบความสำเร็จ


References

Robbins, P., Bikande, F., Ferris, S., Kleih, U., Okoboi, G. and Wandschneider, T. (2004) Manual for Collective Marketing for Smallholder farmers. Retrieved from http://www.fao.org/sd/erp/toolkit/BOOKS/manual4_collectivemarketing.pdf July, 25 2020

Sarkar, Sayantan & Mishra, Dheeraj & Ghadei, Kalyan. (2014). Collective Marketing – A Hope for the Farmers. Indian Journal of Crop Ecology. 2. 21-26

Vos, R. and Cattaneo, A. (2020). Smallholders and Rural People Making Food System Value Chains Inclusive. Retrieved from http://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/133646/filename/133857.pdf July, 3 2020