KIT UDOM RICE

Premium Quality Rice from Ubon Ratchathani, Thailand.

This is default featured slide 2 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 3 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 4 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 5 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

Premium Grade Hom Mali Rice

วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

หูเย่าปังกับวิกฤติเทียนอันเหมิน

 หูเย่าปังกับวิกฤติเทียนอันเหมิน

         หูเย่าปัง เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ของจีนระหว่างปี 1980-1987 แต่ดูเหมือนว่าตลอดการดำรงตำแหน่งในฐานะเลขาธิการพรรคของหูเย่าปังนั้นจะไม่ราบรื่นนัก โดยเฉพาะความขัดแย้งกับเติ้งเสี่ยวผิง ที่นับวันจะขัดแย้งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งความขัดแย้งดังกล่าวมาจากประเด็นเรื่องหลักการเสรีนิยม เติ้งเสี่ยวผิงยึดมั่นในหลักการ 4 ประการ (The Four Cardinal Principles) ประกอบด้วย     

  • เดินตามแนวทางสังคมนิยม (the socialist path) 
  • เผด็จการโดยประชาชน (the people's democratic dictatorship) 
  • มีพรรคคอมมิวนิสต์เป็นผู้นำ (the leadership of the Communist Party) 
  • เดินตามแนวคิดมาร์กซ์ เลนิน และเหมาเจ๋อตุง (Marxist-Leninist-Mao Ze-dong thought) 

 
        ในช่วงทศวรรษ 1980 กระแสแห่งประชาธิปไตยเบ่งบานแนวคิดเสรีนิยมก็เบ่งบานในจีนเช่นกัน เติ้งเสี่ยวผิงมองว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง จึงนำมาสู่นโยบายการต่อต้านแนวคิดมลภาวะ (Anti-Spiritual Pollution Campaign) นี่จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นความขัดแย้งทางความคิดระหว่างหูเย่าปังและเติ้งเสี่ยวผิง ในขณะที่ต่างประเทศมีความกังวลต่อจีนเกี่ยวกันนโยบายดังกล่าว เจ้าจื่อหยาง เป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น เดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา เพื่ออธิบายนโยบายดังกล่าวว่า จะไม่ถูกนำมาใช้ในด้านเศรษฐกิจ เกษตรกรรม และวิถีชีวิต จึงคลายความกังวลในสายตาของต่างประเทศได้บ้าง 

          ในขณะที่หูเย่าปังมีความกังวลว่านโยบายดังกล่าวจะสร้างความไม่พอใจในหมู่ปัญญาชนและต่างประเทศ และกล่าวกับตัวแทนจากญี่ปุ่นว่านโยบายดังกล่าวไม่ความเหมาะสม นอกจากนั้นหูเย่าปังยังไม่ดำเนินมาตรการอย่างเด็ดขาดกับหวังรั่วสุย (Wang Ruoshui) กัวหลัวจี้ (Guo Luoji) นักวิชาการเสรีนิยม และ หูจี๋เว่ย (Hu Jiwei) บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ People's Daily ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้กับเติ้งเสี่ยวผิงเป็นอันมาก เพราะเติ้งเสี่ยวผิงมองว่า กระแสเสรีนิยมเริ่มรุนแรงขึ้นในจีนเพราะความอ่อนแอของหูเย่าปัง ความไม่พอใจของเติ้งเสี่ยงผิงเริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อหูเย่าปังให้สัมภาษณ์กับลู่เคิง บรรณาธิการนิตยสารไป๋ซิ่ง (Ordinary People) ซึ่งเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่อยู่ฝ่ายตรงกันข้ามกับพรรคคอมมิวนิสต์ หนึ่งในบทสัมภาษณ์ลู่เคิงถามหูเย่าปังว่า ทำไมไม่คุมอำนาจกองทัพแทนเติ้งเสี่ยวผิง หูเย่าปังตอบปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเพียงแค่งานด้านเศรษฐกิจก็ยุ่งมากพอแล้ว  นอกจากนั้นบางช่วงบางตอนลู่เคิงเองก็วิพากษ์วิจารณ์ผู้ใหญ่ในพรรคคอมมิวนิสต์หลายคน เช่น เฉินหยุน และ หวังเจิ้น แต่การสัมภาษณ์ในครั้งนั้นกับสร้างความหวาดระแวงของเติ้งเสี่ยวผิงที่มีในตัวหูเย่าปังเพิ่มมากขึ้น 


         และฟางเส้นสุดท้ายก็คือเหตุการณ์ประท้วงของนักศึกษาในเดือนตุลาคม 1986 ซึ่งเติ้งเสี่ยวผิงมองว่าเป็นความผิดของหูเย่าปังที่ไม่ขจัดขัดขว้างขบวนการเสรีนิยมตั้งแต่ต้น หูเย่าปังยื่นใบลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ในวันที่ 4 มกราคม 1987 จากนั้นจึงมีการตั้งกรรมการสอบความผิดของหูเย่าปัง โดยหนึ่งในผู้กล่าวโทษหูเย่าปังก็คือ หยูชิวหลี่ หนึ่งในผู้ใกล้ชิดหูเย่าปัง ซึ่งสร้างความประหลาดใจเป็นอย่างยิ่งว่า เหตุใดคนที่ทำงานใกล้ชิดหูเย่าปัง กลับกล่าวโทษหูเย่าปังอย่างรุนแรง เป็นที่คาดการณ์กันว่า หยูชิวหลี่ คงอยากสลัดภาพผู้ใกล้ชิดออกไป ไม่อยากรับเคราะห์ตามหูเย่าปังไปด้วย 

          วันที่ 15 เมษายน 1989 หูเย่าปังถึงแก่อนิจกรรม นักศึกษานับพันร่วมชุมนุมที่จัตุรัสเทียนอันเหมินเพื่อเป็นการไว้อาลัยแด่การจากไปของหูเย่าปัง แต่การชุมนุมยืดเยื้อบานปลายจนกลายเป็นการเรียกร้องให้มีการปฏิรูปทางการเมือง แก้ปัญหาการทุจริต เรียกร้องประชาธิปไตย และมีบางส่วนที่หัวรุนแรงต่อต้านพรรคคอมมิวนิสต์ เจ้าจื่อหยางขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ดำเนินการให้มีการประนีประนอมจากหลายฝ่าย แต่ท้ายที่สุดเหตุการณ์การนองเลือดก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ กลายเป็นจุดด่างพร้อยในประวัติศาสตร์จีน 

สนับสนุนบทความโดยข้าวหอมมะลิตรามงกุฎคู่ 

สามารสั่งทาง shopee ได้แล้ววันนี้
ข้าวหอมมะลิ 5 กก.
ข้ามหอมมะลิ 1 กก.
ข้าวกล้อง 1 กก.
ข้าวไรซ์เบอร์รี่

Reference 

Pu, B., Chiang, R., and Ignatius, A. (2009). Prisoner of the State the Secret Journal of Premier Zhao Ziyang. Simon & Schuster;New York 


    

วันศุกร์ที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2564

ยืนหยัดอย่างยั่งยืน

 ยืนหยัดอย่างยั่งยืน 

        หลายวันมานี้ทีมงานข้าวยั่งยืนลงพื้นที่ให้ความรู้กับเกษตรกร ในหลายหมู่บ้านในอำเภอตระการพืชผล การลงพื้นที่ในครั้งนี้ผมรู้สึกขอบคุณทีมงามข้าวยั่งยืนที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง เพื่อคนในพื้นที่และแก้ปัญหาให้กับเกษตรกรอย่างแท้จริง  ทำให้ผมได้รับความรู้จากคุณพ่อมนตรี พรหมลักษณ์ ในฐานะหัวหน้าโครงการและวิทยากรด้วย จากการลงพื้นที่ทำให้ผมรับรู้ถึงปัญหาว่า เกษตรกรหลายคนใช้ปุ๋ยตามอำเภอใจ หรือเลือกปุ๋ยตามคำแนะนำจากร้านค้า โดยขาดความรู้ที่แท้จริง คุณพ่อมนตรีจึงรวบรวมความรู้และประสบการณ์กว่า 40 ปี เขียนเป็นคู่มือถึงวิธีการปลูกข้าวเพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน  

        

      ส่วนหนึ่งของการบรรยายคุณมนตรีเล่าว่า เกษตรกรไม่ได้ใช้ปุ๋ยตามค่าการวิเคราะห์ดิน หรือเลือกใช้ปุ๋ยที่มีราคาถูกมากกว่าปุ๋ยที่เหมาะกับต้นข้าว ซึ่งเป็นการใช้ปุ๋ยอย่างไม่มีประสิทธิภาพ ผลผลิตลดลง ต้นทุนสูงขึ้น ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องมีความรู้เรื่องปุ๋ยและความแตกต่างของปุ๋ยแต่ละชนิด ยกตัวอย่างเช่น ปุ๋ยยูเรียช่วยบำรุงใบ ฟอสฟอรัสช่วยในการแตกกอ โพแทสเซียมบำรงรวงข้าว แต่ฟอสฟอรัสกับโพแทสเซียมเป็นปุ๋ยที่ละลายช้า ดังนั้นไม่ต้องใส่เยอะ หากเกษตรกรมีความรู้เช่นนี้ก็ใช้ปุ๋ยอย่างพอเหมาะ ลดต้นทุนในการทำนาได้

        โดยสัดส่วนที่เหมาะสมก็คือยูเรีย 20 กก. ต่อฟอสฟอรัส 5 กก. ต่อโพแทสเซียม 5 กก. ใส่หลังนาดำประมาณ 10 วันหรือนาหว่าน 1 เดือน แต่ถ้าเป็นช่วงฝนไม่ดี ต้องทะยอยใส่ปุ๋ยละน้อย สำหรับช่วงที่ข้าวกำลังตั้งท้องใช้ยูเรีย 5 กก.ต่อไร่ก็พอ ถ้าใช้เยอะกว่านั้นจะทำให้ข้าวเกิดเชื้อราหรือตายได้ สำหรับพื้นที่ในภาคอีสานนั้นส่วนใหญ่เป็นนาดินทราย การใช้ปุ๋ยสูตร 16-20-0 หรือ 15-15-15 ไม่เหมาะกับนาดินทราย ดังนั้นเกษตรกรจึงต้องเลือกใช้ปุ๋ยที่เหมาะกับสภาพดิน เพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี คุ้มค่ากับการลงทุน

          

       โครงการข้าวยั่งยืนต้องการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเอง ในขณะที่ข้าวต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรงในตลาดโลก ข้าวไทยกำลังได้รับความนิยมลดลงเนื่องจากมีราคาสูง ในขณะที่ข้าวจากประเทศคู่แข่ง มีคุณภาพใกล้เคียงข้าวไทยแต่ราคาถูกกว่า เกษตรกรจึงต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำนา โดยลดต้นทุน หนึ่งในเคล็ดลับที่คุณพ่อมนตรีบรรยายคือลดการใช้ยาฆ่าหญ้า เพราะนอกจากทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ทำให้กบเขียดในท้องนาล้มตาย ยังเป็นต้นทุนให้กับเกษตรกรด้วย คุณพ่อมนตรีจึงให้เกษตรกรตัดต้นข้าวพร้อมกับต้นหญ้าในช่วง 1 เดือนก่อนข้าวตั้งท้อง จะสามารถกำจัดวัชพืชได้โดยไม่ต้องใช้ยาฆ่าหญ้า

          

         โครงการข้าวยั่งยืน ส่งเสริมให้เกษตรกรลดการใช้ยาฆ่าหญ้า ทำพันธุ์ข้าวเอง ใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธี ประหยัดต้นทุน จึงจะสามารถทำให้ข้าวไทยยืนหยัดในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืน




 

วันพุธที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2564

กบคืนนา ปลาคืนทุ่ง ข้าวยั่งยืน

 กบคืนนา ปลาคืนทุ่ง ข้าวยั่งยืน 

        ผมลงพื้นที่กับทีมงานข้าวยั่งยืน มีคุณพ่อมนตรี พรหมลักษณ์ เป็นหัวหน้าและเป็นวิทยากรในการลงพื้นที่ด้วย ส่วนหนึ่งของการบรรยายคุณพ่อมนตรีเล่าให้ฟังว่า ข้าวไทยในปัจจุบันเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง โดยเฉพาะจากอินเดียและเวียดนาม แม้ว่าข้าวไทยจะมีคุณภาพสูงกว่าคู่แข่ง แต่หากราคาสูงกว่าคู่แข่งมากข้าวไทยก็จะสูญเสียตลาดในต่างประเทศ ในขณะที่ชาวนามีต้นทุนสูง เนื่องจากราคาปุ๋ยปรับตัวสูงขึ้นมาก ดังนั้นคุณพ่อมนตรี จึงอบรมให้ความรู้เรื่องการใช้ปุ๋ยแก่เกษตรกร เพื่อช่วยเกษตรกรลดต้นทุน 

        ข้าวมีความจำเป็นต้องการปุ๋ยยูเรีย แต่หากใส่ปุ๋ยยูเรียเยอะเกินไป จะทำให้ข้าวเป็นโรค ข้าวล้ม หรือข้าวตาย นอกจากจะทำให้ผลผลิตเสียหายแล้ว เกษตรกรยังแบกรับต้นทุนสิ้นเปลืองโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้นเกษตรกรต้องใช้ปุ๋ยให้เหมาะสม คุณพ่อมนตรีบอกอีกว่า สำหรับพื้นที่นาในภาคอีสานส่วนใหญ่เป็นนาดินทราย สูตรปุ๋ยที่เหมาะสมคือ 16-16-8 ในขณะที่เกษตรกรจำนวนมากเคยชินกับการใช้ปุ๋ยสูตร 15-15-15 ซึ่งไม่เหมาะกับการปลูกข้าว แต่เหมาะกับการปลูกมันสำปะหลัง นอกจากจะไม่ได้ผลผลิตตามที่คาดไว้แล้ว ยังมีต้นทุนที่สูงโดยไม่จำเป็นอีกด้วย 

         ดังนั้นข้าว 1 ไร่ ควรใช้ปุ๋ยยูเรียไม่เกิน 10 กก. ปุ๋ยโพแทสเซียมและฟอสฟอรัส ไม่เกิน 5 กก. เกษตรกรควรซื้อปุ๋ยยูเรีย 2 กระสอบ และปุ๋ยโพแทสเซียมและฟอสฟอรัส อย่างละ 1 กระสอบ ต่อข้าว 10 ไร่ จะเป็นการใช้ปุ๋ยเหมาะกับค่าการวิเคราะห์ดิน ได้ผลผลิตดีและประหยัดต้นทุนได้ดีอีกด้วย 

         เมล็ดพันธุ์ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาของเกษตรกร นอกจากจะเป็นต้นทุนแล้วยังไม่เพียงพอต่อความต้องการอีกด้วย คุณพ่อมนตรีจึงโน้มน้าวให้เกษตรกร ทำเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เอง โดยกันพื้นที่ไว้ส่วนหนึ่งเพื่อทำเมล็ดพันธุ์โดยเฉพาะ เพาะปลูกให้พิถีพิถัน เกี่ยวมือ คัดเลือกพันธุ์ปลอมปนออก เช่นนี้แล้วก็ไม่จำเป็นต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ทุกปี

       

         นอกจากการใช้ปุ๋ยอย่างถูกวิธีแล้ว การตัดหญ้าก่อนข้าวตั้งท้อง 1 เดือนและใส่ปุ๋ยเพื่อให้ข้าวแตกกอใหม่ ก็เป็นอีกเทคนิคที่ช่วยประหยัดยาฆ่าหญ้าได้อีกด้วย นอกจากจะประหยัดต้นทุนแล้ว ยังสร้างความสมดุลให้กับระบบนิเวศ ลดโลกร้อน คืนสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับท้องนา ดั่งคำว่ากบคืนนาปลาคืนทุ่ง 

 

          

วันพุธที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2564

อบรมมาตรฐานใหม่ จาก GMP สู่ GHPs

 อบรมมาตรฐานใหม่ จาก GMP สู่ GHPs 

       องค์การอนามัยโลก หรือ WHO มีการเปลี่ยนแปลงมาตรฐานสากลจากระบบ GMP เป็น GHPs (Good Hygiene Practices) ซึ่งประกอบด้วย 5 หัวข้อคือ 

  1. การดูแลทำความสะอาด
  2. การแยกอาหารดิบออกจากอาหารปรุงสุก
  3. การปรุงอาหารให้สุกอย่างทั่วถึง 
  4. จัดเก็บอาหารภายใต้อุณหภูมิที่เพียงพอและเหมาะสม
  5. ใช้น้ำที่สะอาดและปลอดภัย 

        เพื่อให้พนักงานได้เข้าใจระบบมาตรฐานใหม่และนำไปใช้อย่างถูกต้อง โรงสีข้าวกิจอุดมจึงเชิญอาจารย์สมใจ เจริญวัฒนธาดา เข้ามาอบรมเพื่อให้ความรู้ ความมุ่งมั่นของผู้บริหารและพนักงานเป็นสิ่งที่โรงสีข้าวกิจอุดมยึดมั่นเสมอมา เพราะระบบมาตรฐานไม่ใช่แค่งานเอกสารเพื่อให้ auditor ตรวจเท่านั้น แต่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอและเป็นกิจวัตร ดังนั้นการประยุกต์ใช้ระบบมาตรฐานในการทำงาน พนักงานจึงต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อกำหนดเสียก่อน เราจึงจัดอบรมให้กับพนักงานอย่างสม่ำเสมอ

       

        ระบบใหม่ GHPs ไม่เพียงแต่เน้นเรื่องการผลิตเหมือนที่ผ่านมาเท่านั้น แต่เพราะ GHPs ให้ความสำคัญกับสารก่อภูมิแพ้ ดังนั้นโรงสีจึงต้องใส่ใจทุกกระบวนการ ตั้งแต่รับเข้าข้าวเปลือก การจัดเก็บ การผลิต การขนส่ง รวมทั้งสุขลักษณะส่วนบุคคล เพื่อป้องกันสารก่อภูมิแพ้ปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์ รวมทั้งระบบมาตรฐาน GHPs ยังก้าวล่วงเข้าไปในปริมณฑลของ มาตรฐาน HACCP อีกด้วย โดยเพิ่มความคุมเข้มจุดวิกฤติที่ก่อให้เกิดอันตรายในกระบวนการผลิต แต่เนื่องจากโรงสีข้าวกิจอุดม มีมาตรฐาน HACCP อยู่แล้ว ระบบมาตรฐานใหม่ GHPs จึงไม่เป็นภาระมากนัก

         อาจารย์สมใจ ยังให้ความสำคัญกับการระบุอันตรายจากกระบวนการผลิตด้วย ซึ่งมาจาก คน วัตถุดิบ และสิ่งแวดล้อม การระบุอันตรายต้องระดมสมองจากพนักงานทุกคน และมีหลักฐานหรือมาตรฐานเป็นเอกสารอ้างอิง และมีการตรวจสอบจุดอันตรายต่างๆเหล่านั้นอย่างสม่ำเสมอ จากการอบรมพนักงานโรงสีข้าวกิจอุดม ผ่านการทดสอบทุกคน ผู้บริโภคจึงเชื่อมั่นได้ว่า สินค้าของโรงสีข้าวกิจอุดมนั้นมีความปลอดภัย


 

สมาชิกใหม่โครงการข้าวยั่งยืน

 สมาชิกใหม่โครงการข้าวยั่งยืน 

         ผมได้มีโอกาสลงพื้นที่พร้อมกับทีมงานข้าวยั่งยืน เพื่อขึ้นทะเบียนสมาชิกใหม่ให้กับเกษตรกรในอำเภอเหล่าเสือโก้ก เกษตรกรในพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าประจำของโรงสีข้าวกิจอุดมอยู่แล้ว แต่เพิ่งจะได้สมัครเป็นสมาชิกของโครงการข้าวยั่งยืน ยังมีงานเอกสาร บัตรสมาชิก เงื่อนไขการได้รับเงินปันผล และข้อมูลองค์ความรู้ต่างๆ ที่ยังถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับเกษตรกร ต้องขอขอบคุณทีมงานข้าวยั่งยืนที่ทำงานอย่างขยันขันแข็ง เพื่อเกษตรกรในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง นับได้ว่ามีประโยชน์เป็นอย่างมาก


         ผมได้ร่วมฟังบรรยายจากคุณพ่อมนตรี พรหมลักษณ์ เรื่องการใช้ปุ๋ย พบว่าเกษตรกรหลายคนยังคงใช้ปุ๋ยด้วยความเชื่อที่ผิดๆ ยิ่งใส่ปุ๋ยยิ่งมากยิ่งดี และยังใช้ปุ๋ยไม่ถูกวิธี ไม่เหมาะกับดิน นอกจากจะไม่เกิดประโยชน์แล้ว ยังสิ้นเปลืองเงินทอง ต้นทุนสูง และยังทำให้ต้นข้าวได้รับความเสียหาย ยกตัวอย่างเช่น คุณพ่อมนตรีเล่าว่า ปุ๋ยยูเรียแม้มีประโยชน์มาก แต่หากใช้ไม่ถูกต้อง ใช้เยอะเกินไป เกิน 10 กก.ต่อไร่ จะทำให้ข้าวตายหรือเกิดเชื้อราขึ้นได้ 

        

         ต้นข้าวก็เหมือนกับคน กินอิ่มก็พอ การใช้ปุ๋ยมากเกินไป ต้นข้าวก็ดูดซึมไม่หมด เป็นความสิ้นเปลือง เพิ่มต้นทุนให้กับเกษตรกร เกษตรกรบางคนปลูกข้าวกข 15 และ ข้าวหอมมะลิ 105 ซึ่งข้าวกข 15 จะเก็บเกี่ยวก่อน ข้าวหอมมะลิ 105 ดังนั้นปุ๋ยยูเรียควรใส่ข้าวกข 15 ก่อน และทิ้งช่วงประมาณ 1-2 สัปดาห์จึงใส่ปุ๋ยให้ข้าวหอมมะลิ 105 ไม่ใช่ใส่ปุ๋ยพร้อมกัน หากใส่ปุ๋ยโดยไม่คำนึงถึงเวลา และดินฟ้าอากาศ แทนที่จะเกิดประโยชน์ แต่กลับเกิดโทษทำให้ต้นข้าวเสียหาย 


           

         หลังจากเสร็จสิ้นการบรรยาย ผมจึงถือโอกาสเยี่ยมแปลงนาของแม่แขกด้วย แม่แขกเป็นลูกค้าประจำของโรงสีข้าวกิจอุดม ให้ความไว้วางใจเรามาโดยตลอด ข้าวของแม่แขกมีคุณภาพ เมล็ดสวย วันนี้มาเห็นด้วยตา จึงรู้ว่าเพราะการเอาใจใส่ของแม่แขก จึงทำให้ได้ข้าวคุณภาพ แม่แขกปลูกข้าวพร้อมกับถั่วเขียวพร้อมกัน จึงทำให้ดินได้รับสารอาหารที่อุดมสมบูรณ์ ต้นข้าวจึงเติบโตงอกงามได้ดี

 

            

          ทีมงานข้าวยั่งยืนที่ลงพื้นที่จริง เพื่อแก้ปัญหาให้ความรู้กับเกษตรกรในพื้นที่อย่างจริงจัง มีคุณพ่อมนตรี พรหมลักษณ์ เป็นหัวหน้า ผู้ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์ พร้อมจะถ่ายทอดให้กับเกษตรกร ด้วยความจริงใจของทีมงานข้าวยั่งยืน จึงได้รับความไว้วางใจจากเกษตรกรในพื้นที่ โรงสีข้าวกิจอุดมขอเป็นกำลังใจและสนับสนุนทีมงานข้าวยั่งยืนด้วยใจจริง ไหมเส้นเดียวไม่เป็นด้าย ต้นไม้ต้นเดียวไม่เป็นป่า การแก้ปัญหาเกษตรกรรมต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคน 

 



วันเสาร์ที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2564

ก้าวแรกของการเปิดประเทศของจีน

 ก้าวแรกของการเปิดประเทศของจีน 

         ผลพวงจากการใช้นโยบายพึ่งพาตนเอง (Self-reliance) และปิดประเทศ (the Closed-door policy)ของจีน ในสมัยของเหมาเจ๋อตง ทำให้จีนประสบปัญหาในหลายๆอย่าง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือด้านเกษตรกรรม ในขณะที่จีนทุ่มเทงบประมาณด้านชลประทานมากมายแต่กลับได้ผลผลิตน้อยนิด ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน เจ้าจื่อหยางตระหนักเป็นอย่างดีว่าสาเหตุเกิดจากการปลูกพืชที่ไม่เหมาะกับสภาพภูมิประเทศ หากปลูกพืชที่เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ และส่งออกไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนกับสิ่งที่ต้องการ จะเป็นการช่วยประหยัดงบประมาณและนำไปใช้กับสิ่งที่เกิดประโยชน์มากขึ้น  

                                          Photo by Zetong Li on Unsplash

        ปี 1979 เจ้าจื่อหยางเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ พบว่าทางตอนใต้ของฝรั่งเศส มีสภาพภูมิอากาศแห้งและไม่มีฝนในช่วงหน้าร้อน แทนที่ฝรั่งเศสจะลงทุนสร้างระบบชลประทานขนาดใหญ่ แต่กลับเลือกจะปลูกองุ่นที่เหมาะกับสภาพอากาศ ซึ่งสร้างความมั่งคั่งให้กับเกษตรกร ในอังกฤษก็เช่นกันฝั่งตะวันออก ได้รับแสงแดดที่เพียงพอ เหมาะกับการปลูกข้าวสาลี ในขณะที่ฝั่งตะวันตกได้รับแสงแดดน้อยกว่า จึงเลือกที่จะปลูกหญ้า และฝั่งตะวันตกจึงกลายเป็นแหล่งอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ การปศุสัตว์ และผลิตภัณฑ์จากนม อีกประเทศคือกรีซ ซึ่งมีสภาพภูมิอากาศที่แห้งแล้งและไม่มีฝน คล้ายกับสภาพอากาศในส่านซีของจีน แต่สำหรับจีนแล้วลงทุนเพื่อพัฒนาชลประทานมากมายเพื่อปลูกข้าว แต่กลับได้ผลผลิตที่ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน และเกษตรกรก็ยังประสบปัญหาอดอยากอีกด้วย แต่กรีซกลับปลูกต้นมะกอกและพัฒนาอุตสาหกรรมน้ำมันมะกอก ซึ่งสร้างความมั่งคั่งให้กับเกษตรกรในพื้นที่ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือแม้ว่าเกษตรกรในกรีซจะไม่ได้ปลูกข้าว แต่ปลูกมะกอกก็มีเงินซื้อข้าวได้เช่นกัน กรีซประสบความสำเร็จเช่นนี้ได้ เพราะนโยบายการเปิดประเทศ

                                         Photo by Kirill Sharkovski on Unsplash 


          เจ้าจื่อหยางพบว่าในจีนกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในเหอหนานสภาพภูมิประเทศเป็นดินทราย เหมาะกับการปลูกถั่วลิสง แต่ด้วยนโยบายปิดประเทศเกษตรกรไม่มีทางเลือกนอกจากปลูกข้าวโพด เพื่อให้มีอาหารที่เพียงพอกับการบริโภคในประเทศ แต่ผลกลับไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะสภาพภูมิประเทศที่ไม่เหมาะกับการปลูกข้าวโพด ผลผลิตจึงต่ำ เกษตรกรประสบความยากลำบากยิ่ง ในซานตงก็ประสบปัญหาเช่นกัน เนื่องจากซานตงมีปัญหาดินเค็ม เหมาะกับการปลูกฝ้าย แต่เนื่องจากนโยบายปิดประเทศ หากปลูกฝ้ายประชาชนในพื้นที่จะมีอาหารที่ไม่เพียงพอต่อการบริโภค เกษตรกรจึงไม่มีทางเลือกต้องปลูกข้าวสาลี แต่เนื่องจากข้าวสาลีไม่เหมาะกับการปลูกในดินเค็ม ผลผลิตจึงตกต่ำ ประชาชนในพื้นที่ก็ยังต้องประสบกับความอดอยากเช่นเดิม 

        

           ในปี 1983 เจ้าจื่อหยางตัดสินใจปลูกฝ้ายในพื้นที่ซานตง ผลพลอยได้ที่ได้จากการผลิตฝ้ายก็คือเมล็ดฝ้าย เมื่อนำไปสกัด จะได้น้ำมัน ซึ่งน้ำมันจากเมล็ดฝ้ายสามารถใช้เป็นปุ๋ย ลดความเค็มของดินได้ด้วย เมื่อมีฝ้ายมากขึ้นจีนก็ส่งออกฝ้าย และนำเงินจากการขายฝ้ายนำเข้าข้าวสาลีจากต่างประเทศแทน การเปิดประเทศช่วยให้เกษตรกรของจีนมีรายได้มากขึ้น และไม่ต้องปลูกพืชที่ไม่เหมาะกับสภาพดินฟ้าอากาศ แต่ปลูกพืชที่สามารถสร้างรายได้ที่สูงกว่า และนำเข้าในสิ่งที่ต้องการ แนวคิดดังกล่าวดูนำไปใช้ในอุตสากรรมเหล็กด้วย แทนที่จะถลุงเหล็กเอง ก็นำเข้าแร่เหล็กที่มีคุณภาพจากต่างประเทศ เพื่อป้อนโรงงานรีดเหล็กและเหล็กเส้นในประเทศ

Reference 

Pu, B., Chiang, R., and Ignatius, A. (2009). Prisoner of the State the Secret Journal of Premier Zhao Ziyang. Simon & Schuster;New York