Premium Grade Hom Mali Rice

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ลดความเหลื่อมล้ำด้วย Rurbanomics

ลดความเหลื่อมล้ำด้วย Rurbanomics 
      การฟื้นฟูสังคมชนบทด้วยวิถี Rurbanomics ไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาด้านเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังพลิกฟื้นพื้นที่ชนบทให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่อีกด้วย เพื่อให้คนหนุ่มสาวมีความหวัง สามารถเติบโตและเข้มแข็งต่อไป โดยไม่ต้องอพยพเข้ามาในสังคมเมือง ซึ่งจะเป็นการลดความแออัดและกระจายความเจริญสู่สังคมชนบทอีกด้วย แต่การจะฟื้นฟูสังคมชนบทได้นั้นต้องลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของสังคมชนบท
     1. ลงทุนด้านเศรษฐกิจ Achim Steiner และ Shenggen Fan เสนอว่าพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อวางรากฐานทางด้านการเกษตรและภาคส่วนอื่นๆไปพร้อมกัน เช่น การศึกษา สาธารณสุข  นอกจากนั้นยังต้องลงทุนด้านการสื่อสาร คมนาคม และระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเชื่อมโยงสังคมชนบทกับสังคมเมือง ทำให้เกิดโอกาสทางการตลาดใหม่ๆแก่สินค้าเกษตร ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศบังกลาเทศ เมื่อมีการก่อสร้างถนน ทำให้การขนส่งสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ลดการเน่าเสียของสินค้าเกษตรอันเนื่องมาจากการขนส่งล่าช้า ซึ่งสามารถลดจำนวนประชากรที่ยากจนอย่างมากได้ถึง 3-6% และยังทำให้เด็กที่มีฐานะยากจนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้

       นอกจากนั้นการพัฒนาด้านเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ เช่น คลองชลประทาน การเพาะปลูก การใส่ปุ๋ย และการเก็บเกี่ยว จะสามารถส่งเสริมกิจกรรมนอกภาคการเกษตรได้อีกด้วย  เช่น ในประเทศจีน เมื่อการเกษตรกรรมได้รับการพัฒนา ความสูญเสียอันเกิดจากภัยธรรมชาติลดลง ก็จะนำไปสู่การลงทุนในด้านนวัตกรรม ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม อันจะส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการในสังคมชนบทมากขึ้น ทำให้เพิ่มอาชีพที่หลากหลาย ทำให้พื้นที่ชนบทเป็นที่ที่น่าอยู่ และเป็นความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ได้

      2. การลงทุนด้านเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตและระบบโทรคมนาคมก็เป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยให้ประชากรเข้าถึงแหล่งข้อมูลและราคาตลาด การส่งเสริมให้ประชากรในชนบทสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะเชื่อมโยงสังคมชนบทกับสังคมเมืองได้มากขึ้น ประชากรในชนบทจะสามารถเข้าถึงข้อมูล การบริการทางการเงิน และธนาคารออนไลน์ ซึ่งจะมีส่วนในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการประกอบธุรกิจได้ด้วย


      3. การลงทุนด้านการศึกษา การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ อย่างประเทศในแอฟริกา ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา มีระบบการศึกษาที่ไม่ดีพอสำหรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้ทางเลือกในการประกอบอาชีพของประชากรมีจำกัด การพัฒนาด้านการศึกษาตามแนวทาง Rurbanomics ต้องส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ประชากรชนบทสามารถอ่านออกเขียนได้ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประชากรสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและราคาตลาด จากนั้นจึงพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวะและอุดมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชากรในชนบทสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเสริมทักษะในงานด้านบริการให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงทักษะในโรงงานเท่านั้น การศึกษาต้องเน้นสร้างทักษะเพื่อตอบโจทย์โอกาสทางธุรกิจด้วย

       Rurbanomics คือการพัฒนาสังคมชนบทให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ พัฒนาในทุกมิติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

References 
  Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020