KIT UDOM RICE

Premium Quality Rice from Ubon Ratchathani, Thailand.

This is default featured slide 2 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 3 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 4 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

This is default featured slide 5 title

Go to Blogger edit html and find these sentences.Now replace these sentences with your own descriptions.

Premium Grade Hom Mali Rice

วันศุกร์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

แนวทางการพัฒนาชนบทแบบ Rurbanomics

แนวทางการพัฒนาชนบทแบบ Rurbanomics
      
           Rurbanomics คือการเชื่อมโยงสังคมชนบทกับสังคมเมืองด้วยเศรษฐกิจ ซึ่งเกิดจากคำว่า Rural (ชนบท) Urban (ในเมือง) และ Economics (เศรษฐศาสตร์) ในยุคปัจจุบันพบว่าประชากรในสังคมเมืองมีความต้องการบริโภคอาหารปลอดภัยมากขึ้น ห่วงโซ่อุปทานอาหารมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น หรือที่ Rob Vos และ Andrea Cattaneo เรียกว่า Quiet Revolution หรือการปฏิวัติเงียบ จึงเป็นโอกาสสำหรับสังคมชนบทที่อยู่บนพื้นฐานของเกษตรกรรมได้รับประโยชน์จากสังคมเมืองมากขึ้น แต่สังคมชนบทยังต้องพัฒนาสินค้าให้ได้มาตรฐาน มีเครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาช่วย จึงจะสามารถเข้าถึงตลาดได้ เพื่อไม่ให้ประชากรในชนบทถูกทิ้งไว้ข้างหลัง Rob Vos และ Andrea Cattaneo จึงเสนอแนวทางในการพัฒนาชนบท ตามแนว Rurbanomics 4 แนวทาง คือ การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน การส่งเสริมธุรกิจการเกษตร การพัฒนาเทคโนโลยี และ เสริมศักยภาพของชาวนาและการจัดการความเสี่ยง



           1. การแก้ปัญหาที่ดินทำกิน จากข้อมูล IFPRI ระบุว่า 84% ของเกษตรกรรายย่อย ถือครองที่ดินน้อยกว่า 12 ไร่ และหลายประเทศในแอฟริกาและเอเชียใต้ ขนาดการถือครองที่ดินยังมีแนวโน้มลดลงด้วย จึงเป็นกับดักรายได้และเป็นอุปสรรคต่อการเพิ่มผลผลิตและการพัฒนา Rob Vos และ Andrea Cattaneo เสนอให้ขยายการถือครองที่ดินของเกษตรกรรายย่อย เพื่อที่เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากขนาด หรือ Economies of Scale ซึ่งการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน อาจจะให้สิทธิในการถือครอง หรือการให้เช่าก็ได้ เช่น ในบังกลาเทศ 40%ของการถือครองเกิดจากการเช่าที่ดินทำกิน หรือการใช้ที่ดินภายใต้การบริหารจัดการ นอกจากนั้นภาครัฐยังต้องสนับสนุนด้านเครื่องจักรที่ทันสมัยแก่เกษตรกร ซึ่งอาจจะให้เกษตรกรเช่า หรือการใช้ร่วมกัน เช่น ในเอเชียตะวันออกส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันและใช้ปัจจัยการผลิตร่วมกัน

        
          2. ส่งเสริมธุรกิจการเกษตร ตามแนวคิดของ Rob Vos และ Andrea Cattaneo คือให้ภาคธุรกิจร่วมกับภาคเกษตรกรรมทำพันธะสัญญาร่วมกันเป็นการตลาดแบบองค์รวม (Collective Marketing) เนื่องจากการทำเกษตรของเกษตรกรรายย่อย ประสบปัญหาหลายอย่าง ขาดแคลนเงินทุน ปัจจัยการผลิต และผลิตสินค้าไม่ได้คุณภาพตรงตามความต้องการของตลาด จึงทำให้ขายสินค้าในราคาต่ำ ดังนั้นเกษตรกรรายย่อยจึงต้องรวมกลุ่มกันในการผลิต และขายให้กับธุรกิจที่ทำพันธะสัญญาด้วย ในขณะที่ภาคธุรกิจสนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น เงินทุน โดยใช้ผลผลิตเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ลงทุนคลังสินค้า และเครื่องจักรให้กับเกษตรกร ในขณะที่เกษตรกรต้องผลิตสินค้าให้ได้ตามมาตรฐานที่ตลาดต้องการ
              
          การทำการตลาดแบบองค์รวมนั้นเกษตรกรต้องรวมกลุ่มกัน เพื่อผลิตสินค้าชนิดเดียวกัน และต้องให้เป็นไปตามมาตรฐานที่ผู้ซื้อต้องการ ซึ่งหากทำได้จริงการรวมกลุ่มกันและสินค้ามีคุณภาพ จะทำให้เกษตรกรมีอำนาจต่อรองเพิ่มขึ้น ก็จะสามารถขายสินค้าในราคาที่สูงขึ้นได้ รวมทั้งอาจจะสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ด้วย เพราะสามารถใช้ปัจจัยการผลิต เช่น รถแทรกเตอร์ หรือยานพาหนะ ร่วมกันได้



        แม้ว่าการตลาดองค์รวมจะเป็นทางออกสำหรับเกษตรกรรายย่อยก็จริง แต่การปฏิบัติยังประสบปัญหาอีกมากเช่น ขาดความโปร่งใส ตัวแทนกลุ่มอาจจะเจรจาราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น หรือกลุ่มเกษตรกรที่ขาดผู้นำที่จะสามารถโน้มน้าวสมาชิกให้มีความเข้มแข็ง หรือขาดความเป็นเอกภาพภายในกลุ่ม เช่น เกษตรกรบางรายอาจคิดว่าสินค้าของตนเองดีกว่าของสมาชิกอื่น ควรที่จะได้รับราคาสูงกว่าสมาชิกคนอื่นเป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรควรได้รับการศึกษาและการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจในการทำงาน และเข้าใจกลไกตลาด จึงทำให้การตลาดแบบองค์รวมประสบความสำเร็จ


References

Robbins, P., Bikande, F., Ferris, S., Kleih, U., Okoboi, G. and Wandschneider, T. (2004) Manual for Collective Marketing for Smallholder farmers. Retrieved from http://www.fao.org/sd/erp/toolkit/BOOKS/manual4_collectivemarketing.pdf July, 25 2020

Sarkar, Sayantan & Mishra, Dheeraj & Ghadei, Kalyan. (2014). Collective Marketing – A Hope for the Farmers. Indian Journal of Crop Ecology. 2. 21-26

Vos, R. and Cattaneo, A. (2020). Smallholders and Rural People Making Food System Value Chains Inclusive. Retrieved from http://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/133646/filename/133857.pdf July, 3 2020

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

พัฒนาชนบทอย่างไรให้เข้มแข็ง (2)

พัฒนาชนบทอย่างไรให้เข้มแข็ง (2)

         อุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงไก่ในไนจีเรีย เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการเชื่อมโยงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสังคมเมืองไปสู่สังคมชนบท ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้และการจ้างงานในชนบทได้ ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจและสังคมเมืองของไนจีเรียมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อสูงขึ้นทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท ดังนั้นอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงไก่จึงได้รับอานิสงส์ไปด้วย อุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงไก่นี้สร้างงานให้กับเกษตรกรรายย่อยมากกว่า 8 ล้านคน และตำแหน่งงานอีกกว่าหมื่นตำแหน่งในธุรกิจการค้า โรงสี โลจิสติกส์ การขนส่ง และคลังสินค้า

        
           ไม่น่าเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของการบริโภคเนื้อไก่ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้ นำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไก่ที่เติบโตขึ้นกว่า 6 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับทุกผู้คนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ SME สามารถเติบโตต่อไปได้ เกษตรกรรายย่อยมีกำไรจากการปลูกข้าวโพดทั้งในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคใต้ และยังต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมประมง โดยการปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงปลาอีกด้วย ดังนั้นการพัฒนาชนบทให้เข้มแข็ง หัวใจจึงอยู่ที่การสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตร และเชื่อมโยงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสังคมเมืองกับการผลิตในสังคมชนบท เพื่อที่ประชากรในชนบทจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของสังคมเมืองด้วย ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างงานสร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย


        การเชื่อมโยงตลาดดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ภาคชนบทยังต้องอาศัยการพัฒนาอีกมากเช่นกัน โดยเฉพาะมาตรฐานอาหารปลอดภัย และการศึกษา กล่าวคือการจะยกระดับการผลิตให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นได้นั้น ต้องมีมาตรฐานสากล มีการรับรองระบบมาตรฐาน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม จึงจะสามารถเพิ่มตลาดใหม่ๆ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร  โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ผู้บริโภค ใส่ใจเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยมากขึ้น เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องปรับตัว เพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค แต่การทำมาตรฐานต้องมีการลงทุนและค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรให้การสนับสนุนในส่วนนี้เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยและ SME 
  
        นอกจากนั้น Rob Vos และ Andrea Cattaneo ยังเสนออีกว่าลดภาษีนำเข้า เนื่องจากปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ย และเครื่องมือทางการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า หากลดภาษีนำเข้าได้ จะเป็นการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรรายย่อยได้อีกทางหนึ่ง


        เพื่อให้ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจประชากรในชนบทต้องได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ เช่น การทำธุรกิจ และเทคโนโลยี ซึ่งการได้รับการศึกษาจะช่วยให้พัฒนาฝีมือแรงงานและประกอบอาชีพได้หลากหลาย และยกระดับค่าครองชีพอีกด้วย รัฐบาลจึงควรส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาทั้งระดับอาชีวะและการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการอบรมแก่คนทำงาน เพื่อให้มีความรู้สำหรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ครอบคลุมทั้งความรู้ด้านดิจิตอล กระบวนการผลิต มาตรฐานสากล เทคโนโลยี และการทำธุรกิจ

References 

Vos, R. and Cattaneo, A. (2020). Smallholders and Rural People Making Food System Value Chains Inclusive. Retrieved from http://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/133646/filename/133857.pdf July, 3 2020
  





วันเสาร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

พัฒนาชนบทอย่างไรให้เข้มแข็ง (1)

พัฒนาชนบทอย่างไรให้เข้มแข็ง (1)

           Rob Vos และ Andrea Cattaneo เสนอแนวทางในการพัฒนาชนบทให้เข้มแข็ง และได้ประโยชน์จากการเติบโตของสังคมเมือง 3 แนวทาง คือการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน การปรับปรุงกฎระเบียบด้านการค้า และอบรมพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

          ลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน ซึ่งมีความจำเป็นยิ่งในการทำให้ความเชื่อมโยงระหว่างสังคมชนบทและสังคมเมืองเข้มแข็งขึ้น การก่อสร้างถนน ไฟฟ้า คลังสินค้า ล้วนแต่ทำให้คุณภาพชีวิตของชาวชนบทดีขึ้น นอกจากนั้นการแก้ปัญหาที่ดินทำกิน การเข้าถึงแหล่งเงินทุน และการปรับปรุงปัจจัยการผลิต ก็เป็นส่วนเสริมทำให้ชาวชนบทมีรายได้ที่สูงขึ้น และลดความผันผวนอันเกิดจากราคาตลาด หรือภัยธรรมชาติได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานมันฝรั่งในอินเดีย มีการสร้างห้องเย็นเพื่อเก็บรักษามันฝรั่งให้กับชาวสวน

   
        ซึ่งมีเกษตรกรให้ความสนใจเป็นอันมาก จากเดิมมีเกษตรกรใช้ห้องเย็นแค่ 40% ของเกษตรทั้งหมดในปี 2000 แต่ปัจจุบัน มีเกษตรกรใช้ถึง 95% แล้ว ห้องเย็นไม่เพียงลดความเสียหายของมันฝรั่งเท่านั้น แต่ยังเพิ่มอำนาจต่อรองให้กับเกษตรกรด้วย เดิมทีมันฝรั่งสามารถเก็บได้เพียง 3 เดือน แต่ห้องเย็นสามารถยืดอายุของมันฝรั่งได้นาน 7 เดือน ช่วงที่มันฝรั่งออกมาเยอะ ราคาตก เกษตรก็สามารถเก็บมันฝรั่งไว้ในห้องเย็นเพื่อชะลอการขาย นอกจากนั้นมันฝรั่งที่เก็บในห้องเย็นยังสามารถเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้อีกด้วย
 
     
       ห้องเย็นยังช่วยทำให้การเชื่อมโยงตลาดระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทให้ดีมากขึ้นอีกด้วย ผู้บริโภคเห็นว่าการเก็บมันฝรั่งในห้องเย็น ทำให้เก็บรักษาคุณภาพมันฝรั่งไว้ได้ ไม่เน่าเสีย จึงมีความต้องการมันฝรั่งจากห้องเย็นมากขึ้น และยินดีซื้อในราคาที่สูงขึ้น ในขณะที่ผู้ผลิตเองก็สามารถชะลอการขาย ในช่วงราคามันฝรั่งตกต่ำได้อีกด้วย นับเป็นการยกระดับรายได้ของเกษตรกรได้อีกทางหนึ่ง

    
       นอกจากอินเดียแล้ว บราซิลเองก็เช่นกัน มีการลงทุนก่อสร้างถนนและการขนส่ง ทำให้ลดเวลาในการขนส่งสินค้า และลดต้นทุนของเกษตรกร ทำให้เข้าถึงตลาดในสังคมเมืองได้มากขึ้น ในยุโรปมีการลงทุนสร้างโรงฆ่าสัตว์ชุมชน ระบบอินเตอร์เน็ต ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุน หรือในตอนใต้ของชิลีที่มีการปรับปรุงถนนและการขนส่ง ทำให้เกษตรกรเข้าถึงตลาดได้ง่ายขึ้น จึงนำไปสู่การลงทุนใหม่ๆ เช่น การเลี้ยงปลาแซลมอน ซึ่งเป็นการเพิ่มการจ้างงานในชนบทโดยเฉพาะแรงงานสตรี  ในนิคารากัว มีการก่อสร้างถนน โรงงานแปรรูปนม และห้องเย็น ซึ่งเป็นเสริมความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม เพิ่มรายได้และขยายตลาดได้มากขึ้น

      ซึ่งการลงทุนในสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวก สร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน เพราะเป็นการลดต้นทุน ปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตของห่วงโซ่อุปทาน และส่งเสริมการจ้างงานอีกด้วย

References 

Vos, R. and Cattaneo, A. (2020). Smallholders and Rural People Making Food System Value Chains Inclusive. Retrieved from http://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/133646/filename/133857.pdf July, 3 2020
  

วันอังคารที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

โอกาสทางเศรษฐกิจของชนบท

โอกาสทางเศรษฐกิจของชนบท

          เพื่อให้ประชากรในชนบทได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากสังคมเมือง ชาวชนบทเองก็ต้องปรับวิถีการผลิต ให้สินค้ามีคุณภาพ ปลอดภัย ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค จึงจะสามารถทำให้การผลิตสินค้าเกษตรในสังคมชนบทเชื่อมโยงกับตลาดของสังคมเมืองได้ หากการเชื่อมโยงสามารถเกิดขึ้นได้ ย่อมจะนำไปสู่การกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคส่วนอื่นๆ เช่น การขนส่ง การผลิต การค้าส่งและค้าปลีก ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างงานสร้างรายได้ในชนบท แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่จะเสริมศักยภาพของสังคมชนบทได้ก็คือการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เพื่อสนับสนุนความเชื่อมโยงการตลาดดังกล่าว เช่น ถนน คลังสินค้า ห้องเย็นเก็บสินค้า ไฟฟ้า ประปา และแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จำเป็นในการพัฒนาเศรษฐกิจในสังคมชนบท

            Rob Vos และ Andrea Cattaneo ระบุถึงโอกาสทางการตลาดในสังคมเมือง ในขณะที่ประชากรมากกว่า 1.5 พันล้านคน กระจายตัวอยู่ในเมืองเล็กๆในประเทศกำลังพัฒนา หลายเมืองมีประชากรไม่ถึง 5 แสนคน แต่นี่เป็นโอกาสสำหรับสินค้าเกษตรในชนบทในการเจาะตลาดกลุ่มนี้ ตลาดภายในมีศักยภาพที่สูงมาก ยกตัวอย่างเช่น หลายประเทศในทวีปแอฟริกามีการส่งออกเพียง 5-10% แต่ขายสินค้าอาหารในประเทศสูงถึง 80% และผู้ขายส่วนใหญ่ก็เป็นรายเล็ก หรือ SME สังคมเมืองขนาดเล็กจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจชนบท


         การเติบโตของสินค้าอาหารนี้ จะเป็นขับเคลื่อนให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆกับธุรกิจนอกภาคการเกษตรด้วย

         1. การบริโภคผักและเนื้อสัตว์ จะต้องนำไปสู่การพัฒนาการขนส่งและห้องเย็น เพื่อจัดส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภค อย่างรวดเร็วและไม่เน่าเสีย
         2. พฤติกรรมการบริโภคของคนเมืองเปลี่ยนแปลงไป การบริโภคอาหารสำเร็จเสร็จสิ้นด้วยไมโครเวฟ กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้น ย่อมจะนำไปสู่การพัฒนาและปรับปรุงการแปรรูปอาหารให้มีความหลากหลายมากขึ้น
         3. เพิ่มโอกาสใหม่ในธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก
         4. นอกจากนั้น พฤติกรรมรับประทานอาหารนอกบ้านของคนเมืองก็เพิ่มขึ้น ธุรกิจร้านอาหาร ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือฟาสต์ฟูดส์ ก็มีโอกาสเติบโตเช่นกัน


          ทั้งนี้สังคมชนบทก็ต้องเตรียมยกเครื่องขนานใหญ่ เพื่อรองรับตลาดของสังคมเมือง ตั้งแต่เรื่องหีบห่อและบรรจุภัณฑ์ เพื่อป้องกันการเน่าเสียง่าย ห้องเย็นเพื่อเก็บสินค้า การขนส่ง โรงฆ่าสัตว์ต้องได้มาตรฐานและมีความสะอาด การสีข้าวและธัญพืชก็ต้องปรับปรุงคุณภาพให้ดีขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ดังนั้นสังคมชนบทยังต้องการสาธารณูปโภคพื้นฐาน การพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด และการพัฒนาอบรมฝีมือแรงงาน

References 


Vos, R. and Cattaneo, A. (2020). Smallholders and Rural People Making Food System Value Chains Inclusive. Retrieved from http://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/133646/filename/133857.pdf July, 3 2020

วันอาทิตย์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อุตสาหกรรมอาหารบนวิถี Rurbanomics

อุตสาหกรรมอาหารบนวิถี Rurbanomics 
       
      ตั้งแต่ทศวรรษปี 1990 เป็นต้นมาแม้ว่าพัฒนาการอุตสาหกรรมจะเติบโตและก้าวไกลไปมาก แต่จำนวนประชากรที่มีฐานะยากจนกลับเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชากรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท นั่นหมายความว่าประชากรในชนบทไม่ได้ประโยชน์จากการเติบโตของสังคมเมือง หลายคนเพื่อหลีกหนีจากความยากจนผันตัวเป็นแรงงานในสังคมเมือง แต่ก็ไม่ได้ทำให้รายได้เพิ่มสูงขึ้น ผู้ที่เผชิญกับความยากจนเช่นนี้ โดยมากจะเป็นครัวเรือนขนาดย่อม (Smallholder) ที่ถือครองที่ดินไม่เกิน 2 เฮกเตอร์ (ประมาณ 12 ไร่) ที่อาศัยอยู่ในชนบท ซึ่งเป็นที่น่าเสียดายมากว่า ครัวเรือนขนาดย่อมมีบทบาทอย่างมากในห่วงโซ่อุปทานอาหาร พวกเขาสร้างมูลค่ามากกว่า 36% ของมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารของทั้งโลก แต่กลับได้ประโยชน์จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมน้อยนัก  

จากรายงานของ The International Food Policy Research Institute หรือ IFPRI ระบุว่าประชากรที่มีฐานะยากจนมีประมาณ 1.5 พันล้านคน กระจายตัวอยู่ในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนขนาดย่อม ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งสิ้น 608 ล้านฟาร์ม ในจำนวนนี้ 510 ล้านฟาร์ม ถือครองที่ดินไม่เกิน 2 เฮกเตอร์ หรือคิดเป็นประมาณ 84% ในจำนวนนี้มี 70% ที่ถือครองที่ดินน้อยกว่า 1 เฮกเตอร์ ครัวเรือนขนาดย่อมที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมเหล่านี้คิดเป็นจำนวนถึง 11% ของผู้ที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมทั้งโลก 
     
         ครัวเรือนขนาดย่อมส่วนใหญ่ใช้แรงงานจากคนในครอบครัว เพาะปลูกเพื่อการดำรงชีพ จึงแทบจะไม่ได้ประโยชน์จากอุตสาหกรรมอาหารที่เติบโตขึ้น จึงทำให้ตกอยู่ในความเสี่ยงแห่งความยากจนสูงมาก ประมาณ 20%ของประชากรในภาคการเกษตรมีรายได้เพียง 1.90 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน 30% มีรายได้เพียง 3.10 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน สาเหตุแห่งความยากจนล้วนเกิดจาก การขาดแคลนที่ดินทำกิน ไม่ได้รับการศึกษา หรือเข้าไม่ถึงการบริการสาธารณะ เช่น แหล่งเงินทุน การตลาด และระบบชลประทาน จึงต้องเผชิญความเสี่ยงอันเนื่องมาจากความเสียหายจากภัยธรรมชาติ ทำอย่างไรประชากรที่ยากจนในพื้นที่เกษตรกรรมอันห่างไกลจึงจะได้ประโยชน์จากการเติบโตของระบบเศรษฐกิจ? 


       อุตสาหกรรมอาหารเติบโตเป็นอย่างมากในทวีปแอฟริกาและเอเชีย ประชากรในเมืองเป็นผู้บริโภคในห่วงโซ่อุปทานอาหารถึง 70% นอกจากนั้นการเติบโตของรายได้ในสังคมเมืองยังทำให้พฤติกรรมการบริโภคของประชากรในสังคมเมืองเปลี่ยนไป ผู้บริโภคเริ่มใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ต้องการบริโภคสินค้าที่มีคุณภาพและปลอดภัย จึงนับเป็นโอกาสที่ประชากรในชนบท ในการเข้าถึงห่วงโซ่อุปทานอาหารมากขึ้น ทั้งด้านการตลาดและการแปรรูป จึงต้องลงทุนปรับโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชนบท เพื่อให้ประชากรในชนบทได้รับประโยชน์จากสังคมเมืองได้มากขึ้น


References 


Vos, R. and Cattaneo, A. (2020). Smallholders and Rural People Making Food System Value Chains Inclusive. Retrieved from http://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/133646/filename/133857.pdf July, 3 2020

       

วันศุกร์ที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารเพื่อคนชนบท

การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารเพื่อคนชนบท 

          International Food Policy Research Institute หรือ IFPRI เปิดเผยว่า การที่สังคมเมืองเติบโตและขยายตัวมากขึ้น ระดับรายได้ที่สูงขึ้น ในขณะที่พฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และตลาดอาหารที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในทวีปเอเชียและแอฟริกา นับเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างรายได้และการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ในขณะที่ SME ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับคลังสินค้า โลจิสติกส์ การขนส่ง การค้าส่งและค้าปลีก ก็ขยายตัวเป็นอย่างมากเช่นกัน ปรากฏการณ์นี้ Rob Vos และ Andrea Cattaneo เรียกว่า การปฏิวัติเงียบ (Quiet Revolution) หมายถึงกระบวนการเติบโตของห่วงโซ่อุปทานอาหารนั้นอยู่นอกสายตาของผู้กำหนดนโยบาย ทำให้ศักยภาพของห่วงโซ่อุปทานอาหารถูกทิ้งไว้อย่างน่าเสียดาย
      
         นอกจากนั้นประชากรในชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครัวเรือนขนาดย่อมยังประสบความยากลำบากในการเข้าถึงพ่อค้าคนกลางในห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากระบบเศรษฐกิจมากเท่าที่ควร ทั้งนี้เนื่องมาจากการขาดแคลนปัจจัยการผลิต ปัญหาที่ดินทำกิน และการใช้ทักษะใหม่ๆเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค ซึ่งการขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐานและทักษะเหล่านี้ทำให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารในแอฟริกาและเอเชียถูกละเลย ได้รับการพัฒนาไม่ดีเท่าที่ควร ทั้งที่พื้นที่ชนบทเป็นแหล่งเกษตรกรรมที่มีศักยภาพสูง  

       Rob Vos และ Andrea Cattaneo จึงเสนอว่าควรจะส่งเสริมและพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารทั้งระบบ เนื่องจากธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหารนั้นมีความเชื่อมโยงกับภาคเกษตรกรรม สามารถสร้างผลเชื่อมโยงถอยหลัง (Backward Linkage) ไปยังประชากรที่อาศัยอยู่ในชนบทได้ จึงต้องกระตุ้นการลงทุนทำให้ห่วงโซ่อุปทานอาหารมีความเข้มแข็ง ทำให้ภาคครัวเรือนในชนบทสามารถเข้าถึงตลาด การขนส่ง การกระจายสินค้า การแปรรูป และการค้าปลีก รัฐบาลควรสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อธุรกิจอาหารและสินค้าเกษตร มีสาธารณูปโภคพื้นฐาน สนับสนุนด้านเทคโนโลยีการสื่อสารและการตลาด นอกจากนั้นยังต้องลงทุนด้านฐานข้อมูลและการวิเคราะห์ เพื่อการพัฒนาต่อไปในอนาคต เพื่อให้กลุ่มคนที่ถูกมองข้ามในรับประโยชน์อย่างทั่วถึง


      นอกจากนี้การยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในชนบท ต้องยกระดับความปลอดภัยทางสังคม (Social Protection) ควบคู่ด้วย ความปลอดภัยทางสังคมตามคำนิยามของ Food and Agriculture Organization (FAO) ให้ความหมายว่า การแทรกแซงเพื่อลดความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับประชากรที่เปราะบาง โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะยากจนและอดอยาก โดยแบ่งเป็น 3 ประเภท    
- การช่วยเหลือทางสังคม เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุน
- การประกันภัยทางสังคม เช่น การช่วยเหลือด้านอาหารแก่ประชากรที่อดอยาก การยกระดับรายได้ และสวัสดิการอื่นๆ
- การคุ้มครองตลาดแรงงาน เช่น การอบรมพัฒนาฝีมือเพื่อรองรับต่อตลาดแรงงาน การมีเบี้ยเลี้ยงสำหรับผู้ที่ตกงาน การศึกษาและการสาธารณสุข เป็นต้น

       การพัฒนาห่วงโซ่อุปทานอาหารทั้งระบบจึงเป็นอีกแนวทางที่จะยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในชนบทได้

References 


Vos, R. and Cattaneo, A. (2020). Smallholders and Rural People Making Food System Value Chains Inclusive. Retrieved from http://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/133646/filename/133857.pdf July, 3 2020

http://www.fao.org/social-protection/overview/whatissp/en/

วันศุกร์ที่ 26 มิถุนายน พ.ศ. 2563

บทเรียนจาก Rurbanomics


บทเรียนจาก Rurbanomics
   
       การฟื้นฟูสังคมชนบทต้องเข้าใจปัญหาของแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชนมีความต้องการที่แตกต่างกัน จึงต้องการการพัฒนาที่ต่างกันด้วย อาทิเช่น ในทวีปแอฟริกาต้องการพัฒนาด้านเกษตรกรรม ในเอเชียใต้ต้องกระจายความเจริญสู่ชนบท เพื่อเพิ่มการจ้างงานในชนบทและลดการอพยพเข้าเมือง สำหรับจีนนั้นต้องปรับปรุงการพัฒนาชนบทเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมชนบทเพื่อดึงดูดให้คนหนุ่มสาวทำงานในชนบท แทนการอพยพเข้าเมืองใหญ่ การฟื้นฟูสังคมชนบทตามแนวทาง Rurbanomics นั้นพัฒนาในหลายมิติ อย่างเช่น


      1. สร้างความเชื่อมโยงระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบทอย่างเข้มแข็ง โดยการปรับปรุงห่วงโซ่อุปทานอาหารทั้งกระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การตลาด การบริการ และสร้างโอกาสใหม่ๆในการทำงานให้กับแรงงานในพื้นที่ชนบท และต้องคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมด้วย เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปแบบยั่งยืน หัวใจสำคัญของ Rurbanomics ก็คือสังคมเมืองและสังคมชนบทต้องเป็นพาร์ทเนอร์กันอย่างเท่าเทียม

       2. Rurbanomics ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านเกษตรกรรมเป็นรากฐาน แต่ก็ไม่ละเลยกิจกรรมนอกภาคเกษตร เพราะการเติบโตของภาคการเกษตรจะทำให้ภาคส่วนอื่นเติบโตตามไปด้วย เช่น ภาคอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูป การขนส่ง การบริการทางการเงิน และการบ่มเพาะผู้ประกอบการ

       3. องค์กรท้องถิ่นต้องมีธรรมาภิบาลตรวจสอบได้ มีรายได้ที่เพียงพอในการจัดการท้องถิ่นของตนเอง ประชาชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนท้องถิ่นของตนเอง

      Rurbanomics จึงเป็นอีกแนวทางในการพัฒนาชนบทในประเทศไทย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ





References 
  Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020







ลดความเหลื่อมล้ำด้วย Rurbanomics

ลดความเหลื่อมล้ำด้วย Rurbanomics 
      การฟื้นฟูสังคมชนบทด้วยวิถี Rurbanomics ไม่เพียงแต่เป็นการพัฒนาด้านเกษตรกรรมเท่านั้น แต่ยังพลิกฟื้นพื้นที่ชนบทให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่อีกด้วย เพื่อให้คนหนุ่มสาวมีความหวัง สามารถเติบโตและเข้มแข็งต่อไป โดยไม่ต้องอพยพเข้ามาในสังคมเมือง ซึ่งจะเป็นการลดความแออัดและกระจายความเจริญสู่สังคมชนบทอีกด้วย แต่การจะฟื้นฟูสังคมชนบทได้นั้นต้องลงทุนสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อเพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของสังคมชนบท
     1. ลงทุนด้านเศรษฐกิจ Achim Steiner และ Shenggen Fan เสนอว่าพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อวางรากฐานทางด้านการเกษตรและภาคส่วนอื่นๆไปพร้อมกัน เช่น การศึกษา สาธารณสุข  นอกจากนั้นยังต้องลงทุนด้านการสื่อสาร คมนาคม และระบบไฟฟ้า ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นในการเชื่อมโยงสังคมชนบทกับสังคมเมือง ทำให้เกิดโอกาสทางการตลาดใหม่ๆแก่สินค้าเกษตร ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศบังกลาเทศ เมื่อมีการก่อสร้างถนน ทำให้การขนส่งสะดวกรวดเร็วมากขึ้น ลดการเน่าเสียของสินค้าเกษตรอันเนื่องมาจากการขนส่งล่าช้า ซึ่งสามารถลดจำนวนประชากรที่ยากจนอย่างมากได้ถึง 3-6% และยังทำให้เด็กที่มีฐานะยากจนสามารถกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาได้

       นอกจากนั้นการพัฒนาด้านเกษตรกรรมอย่างเป็นระบบ เช่น คลองชลประทาน การเพาะปลูก การใส่ปุ๋ย และการเก็บเกี่ยว จะสามารถส่งเสริมกิจกรรมนอกภาคการเกษตรได้อีกด้วย  เช่น ในประเทศจีน เมื่อการเกษตรกรรมได้รับการพัฒนา ความสูญเสียอันเกิดจากภัยธรรมชาติลดลง ก็จะนำไปสู่การลงทุนในด้านนวัตกรรม ศูนย์บ่มเพาะผู้ประกอบการ และภาคอุตสาหกรรม อันจะส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการในสังคมชนบทมากขึ้น ทำให้เพิ่มอาชีพที่หลากหลาย ทำให้พื้นที่ชนบทเป็นที่ที่น่าอยู่ และเป็นความหวังให้กับคนรุ่นใหม่ได้

      2. การลงทุนด้านเทคโนโลยี อินเตอร์เน็ตและระบบโทรคมนาคมก็เป็นสิ่งจำเป็นในการช่วยให้ประชากรเข้าถึงแหล่งข้อมูลและราคาตลาด การส่งเสริมให้ประชากรในชนบทสามารถเข้าถึงอินเตอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน จะเป็นอีกทางหนึ่งที่จะเชื่อมโยงสังคมชนบทกับสังคมเมืองได้มากขึ้น ประชากรในชนบทจะสามารถเข้าถึงข้อมูล การบริการทางการเงิน และธนาคารออนไลน์ ซึ่งจะมีส่วนในการสร้างผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในการประกอบธุรกิจได้ด้วย


      3. การลงทุนด้านการศึกษา การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาความรู้และทักษะในการประกอบอาชีพ อย่างประเทศในแอฟริกา ทางตอนใต้ของทะเลทรายซาฮารา มีระบบการศึกษาที่ไม่ดีพอสำหรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ทำให้ทางเลือกในการประกอบอาชีพของประชากรมีจำกัด การพัฒนาด้านการศึกษาตามแนวทาง Rurbanomics ต้องส่งเสริมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ให้ประชากรชนบทสามารถอ่านออกเขียนได้ก่อน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้ประชากรสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลและราคาตลาด จากนั้นจึงพัฒนาการศึกษาระดับอาชีวะและอุดมศึกษา เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับประชากรในชนบทสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจสมัยใหม่ สร้างเสริมผู้ประกอบการรุ่นใหม่ และเสริมทักษะในงานด้านบริการให้มากขึ้น ไม่ใช่เพียงทักษะในโรงงานเท่านั้น การศึกษาต้องเน้นสร้างทักษะเพื่อตอบโจทย์โอกาสทางธุรกิจด้วย

       Rurbanomics คือการพัฒนาสังคมชนบทให้เป็นสังคมที่น่าอยู่ พัฒนาในทุกมิติ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

References 
  Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020

วันพฤหัสบดีที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2563

Rurbanomics วิถีใหม่แห่งการพัฒนา



Rurbanomics วิถีใหม่แห่งการพัฒนา 

     Rurbanomics คือการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมชนบทให้เชื่อมโยงกับการเติบโตของสังคมเมือง ในฐานะที่เป็นพาร์ทเนอร์ที่เท่าเทียมและพึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งแนวทางการพัฒนาตามวิถี Rurbanomics แบ่งออกเป็น 4 ด้าน

     1. เอาใจใส่ความต้องการของสังคมชนบท
     2. พัฒนาทรัพยากรท้องถิ่น และสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐานเพื่อเชื่อมโยงสังคมชนบทกับสังคมโลก โดยอยู่บนหลักการของความหลากหลายและความยั่งยืนทางเศรษฐกิจ
     3. เชื่อมโยงโอกาสของสังคมชนบทกับสังคมโลก
     4. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และส่งเสริมธรรมาภิบาลในสังคมชนบท


      Rurbanomics เป็นแนวทางการพัฒนาสังคมชนบทในหลากหลายมิติ ไม่เพียงจำเพาะแค่ภาคการเกษตรเท่านั้น จากรายงานของ The International Food Policy Research Institute (IFPRI) ชี้ว่าการพัฒนาภาคเกษตรยังส่งผลให้เกิดการเติบโตของกิจกรรมนอกภาคเกษตรได้ด้วย เนื่องจากการผลิตสินค้าเกษตรเพื่อส่งไปขายในเมือง ก็ต้องอาศัยการพัฒนาระบบขนส่ง คลังสินค้าและการจัดเก็บ การค้าปลีกและการค้าส่ง การบริการทางการเงิน ตลอดทั้งการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทาน ทำให้สังคมชนบทขยายจากภาคเกษตร สู่ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ ซึ่งจะนำไปสู่การยกระดับรายได้ของประชากรในชนบทในที่สุด

       อย่างไรก็ตาม การพัฒนาในสังคมชนบทยังต้องอาศัยการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะการลงทุนด้านนวัตกรรม การวิจัยและการพัฒนา เพื่อให้การผลิตในภาคการเกษตรน่าสนใจและดึงดูดให้คนรุ่นใหม่ทำงานในชนบท เพื่อลดความแออัดในสังคมเมือง นอกจากนั้นยังต้องพัฒนาระบบชลประทานเพื่อลดความเสียหายอันเกิดจากภัยธรรมชาติ ยกตัวอย่างเช่น ในประเทศเอธิโอเปีย เคนยา และไนเจอร์ ลงทุนก่อสร้างระบบชลประทาน ส่งผลให้ประชากรในภาคการเกษตรมีช่วงเวลาในการทำการเกษตรที่ยาวนานขึ้น เพราะมีแหล่งน้ำที่เพียงพอ และยังเพิ่มความหลากหลายของพืชเศรษฐกิจ และลดความเสียหายจากภัยธรรมชาติอีกด้วย

     กิจกรรมนอกภาคการเกษตรก็เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องให้ความสำคัญเช่นกัน เพราะเป็นกิจกรรมที่จะดึงให้คนยากจนในชนบทยกฐานะให้หลุดพ้นจากความยากจนไปได้ เช่น ในประเทศปากีสถาน พบว่ากว่าครึ่งหนึ่งของงานนอกภาคการเกษตรช่วยสร้างงานให้กับแรงงานในพื้่นที่ชนบท อีกตัวอย่างคือประเทศจีน ที่ยกระดับประชากรกว่า 223 ล้านคนที่ทำงานในภาคการเกษตรในพื้นทีชนบท ให้มาทำงานในกิจกรรมนอกภาคการเกษตร พบว่ามีประชากร 23 ล้านคนเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถสร้างงานให้กับประชากรอีก 119 ล้านคนได้ ซึ่งประชากรในกลุ่มนี้ผลิตสินค้าเพื่อการส่งออกถึง 40% ของมูลค่าทั้งหมด


     ถึงแม้ว่าจะมีการเติบโตของกิจกรรมนอกภาคการเกษตร แต่ช่องว่างของรายได้ระหว่างภาคชนบทและภาคตัวเมืองก็ยังห่างกันมาก รัฐบาลจีนจึงออกนโยบายยกระดับภาคชนบทโดยการลงทุนในสาธารณูปโภค เทคโนโลยี และนวัตกรรม การบริการสาธารณะ เช่น การศึกษาและสาธารณสุข และปฏิรูปธรรมาภิบาลของท้องถิ่น ซึ่งเป็นวิถีใหม่แห่งการพัฒนาสังคมชนบทที่ถูกละเลยมานาน





References 

Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020

Fan, S. and Badiane, O. (2019). Rurbanomics: The Path to Rural Revitalization in Africa. Retrieved from https://www.ifpri.org/blog/rurbanomics-path-rural-revitalization-africa 26 June 2020

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

ฟื้นฟูภาคชนบทด้วยวิถี Rurbanomics

ฟื้นฟูภาคชนบทด้วยวิถี Rurbanomics
       การฟื้นฟูภาคชนบท (Rural Revitalization) คือการพัฒนาพื้นที่ชนบทในการเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตสินค้าเกษตร ให้มีความปลอดภัย ยั่งยืน และเปลี่ยนภาคชนบทให้เป็นพื้นที่ที่น่าอยู่ เพื่อลดความแออัดในตัวเมือง ปัจจุบันพบว่าเศรษฐกิจในตัวเมืองขยายตัวมากขึ้น ประชากรที่อาศัยในตัวเมืองมีรายได้ที่มากขึ้น ในขณะที่ประชากรในภาคชนบทกลับทิ้งถิ่นฐานเพื่อไปหาโอกาสที่ดีกว่าในเมืองใหญ่ จึงเป็นโจทย์ที่ว่าทำอย่างไรที่จะทำให้ภาคชนบทได้รับประโยชน์จากการเติบโตของตัวเมือง

     
       Rurbanomics จึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะเชื่อมโยงภาคชนบทและตัวเมืองเข้าด้วยกัน และเติบโตไปพร้อมกัน Rurbanomics มาจากคำว่า Rural แปลว่า ภาคชนบท Urban แปลว่า ตัวเมือง และ Economics แปลว่า เศรษฐกิจ พูดง่ายๆก็คือ การเชื่อมโยงเศรษฐกิจภาคชนบทและภาคตัวเมืองเข้าด้วย โดยการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานด้านอาหาร คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการที่ภาคตัวเมืองขยายตัวขึ้นนั้น ความต้องการอาหารก็มีสูงขึ้นด้วย ไม่เพียงเท่านั้นประชากรในเมืองยังต้องการอาหารที่มีความสะอาด ปลอดภัย และยั่งยืนอีกด้วย และด้วยวิถีที่เร่งรีบของประชากรในเมือง ความต้องการอาหารปรุงสำเร็จ เพียงแค่อุ่นในไมโครเวฟก็สามารถรับประทานได้เลย ก็กำลังเป็นวิถีใหม่ที่คนเมืองต้องการ จึงเป็นโอกาสที่ภาคชนบทจะต้องปรับเปลี่ยนและพัฒนาด้านการเกษตรเพื่อตอบโจทย์ของคนเมือง  หากการเชื่อมโยงดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง จะสามารถสร้างความหลากหลายในการประกอบอาชีพ ทำให้แรงงานในภาคชนบทได้ประโยชน์ การผลิต การตลาด และการกระจายสินค้าได้รับการพัฒนา ภาคชนบทก็จะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของตัวเมืองด้วย

    จากบทความของ Achim Steiner และ Shenggen Fan ยังกล่าวอีกว่า ไม่เพียงแค่ต้องพัฒนาการผลิตในอุตสาหกรรมอาหารในภาคชนบทเท่านั้น แต่ยังต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาสิ่งแวดล้อม ยกระดับการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ไปจนถึงระดับอาชีวะศึกษา เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในชนบท เพื่อรองรับงานที่หลากหลายมากขึ้น ยกตัวอย่างการพัฒนาชนบทในจีน อินเดีย และเนปาล ที่มีการลงทุนในด้านการวิจัยด้านการเกษตร พัฒนาด้านการศึกษา และคมนาคม ทำให้ลดความยากจนอย่างมีนัยสำคัญ

     เป็นที่ทราบกันว่า กิจกรรมการเกษตรมีส่วนทำลายสิ่งแวดล้อม ทั้งการแผ้วถางป่า และยังเพิ่มก๊าซเรือนกระจก  แต่การพัฒนาชนบทตามแนว Rurbanomics นั้นไม่เพียงแต่ครอบคลุมปริมณฑลด้านการเกษตรเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมด้านสิ่งแวดล้อม และกิจกรรมนอกภาคการเกษตรอีกด้วย กล่าวคือต้องพัฒนาการทำการเกษตรและควบคู่กับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วย โดยการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวล ซึ่งเป็นการนำของเหลือจากภาคการเกษตรมาผลิตเป็นกระแสไฟฟ้า ไม่เพียงแต่ช่วยลดโลกร้อน แต่ยังส่งเสริมธุรกิจนอกภาคการเกษตร เป็นการเพิ่มความหลากหลายในการประกอบอาชีพอีกด้วย


       ตัวอย่างเช่น ประเทศไนจีเรีย พบว่าสินค้าอาหารกว่า 45% ต้องเน่าเสีย เนื่องจากขาดแคลนตู้เย็นหรือห้องเย็นเพื่อเก็บรักษาอาหาร จึงมีแนวคิดในการสร้างห้องเย็นเพื่อรักษาสินค้าอาหารจากพลังงานแสงอาทิตย์

        Rurbanomics เน้นความเชื่อมโยงและการพึ่งพากันระหว่างภาคตัวเมืองและภาคชนบท ซึ่งจะเป็นการดึงศักยภาพของภาคชนบทให้สูงขึ้น และสามารถทำได้มากกว่าแค่ผลิตอาหารป้อนคนเมือง


References 

Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020

Fan, S. and Badiane, O. (2019). Rurbanomics: The Path to Rural Revitalization in Africa. Retrieved from https://www.ifpri.org/blog/rurbanomics-path-rural-revitalization-africa 26 June 2020

Rurbanomics การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน



 Rurbanomics การพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน 

         รายงานของ The International Food Policy Research Institute (IFPRI) ระบุว่าภาคในเมืองมีการเติบโต ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของทั้งโลกอาศัยอยู่ในตัวเมือง ในขณะที่ ภายในปี 2050 ประชากรกว่า 2 ใน 3 ของทั้งโลกจะกลายเป็นคนเมือง สวนทางกับภาคชนบทที่ปัจจุบันนี้มีประชากรประมาณ 45.3% ของประชากรทั้งโลกอาศัยอยู่ในภาคชนบท ซึ่งในจำนวนนี้มีประชากรมากถึง 70% ที่อยู่ในสถานะยากจนเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งสาเหตุแห่งความยากจนเกิดจาก ภาวะการว่างงาน การขาดแคลนสาธารณูปโภคพื้นฐาน การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ขาดบริการด้านการศึกษาและสาธารณสุขที่มีคุณภาพ และภาวะโลกร้อนซึ่งทำให้พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย จึงทำให้กลุ่มคนยากจนเหล่านี้ ยากยิ่งที่จะลืมตาอ้าปาก
           ในทศวรรษ 1990 ธนาคารโลกออกมายอมรับว่าภาคชนบทได้รับการละเลยในการพัฒนามานานหลายทศวรรษ ถึงเวลาที่ต้องฟื้นฟูภาคชนบทแล้ว โดยตั้งอยู่บนโจทย์ที่ว่า ทำอย่างไรภาคชนบทจะได้รับประโยชน์จากการขยายตัวของภาคตัวเมือง 

           Achim Steiner และ Shenggen Fan เล็งเห็นความเชื่อมโยงระหว่างภาคตัวเมืองและภาคชนบทว่า การที่ตัวเมืองขยายตัวนั้นย่อมมาคู่กับความต้องการด้านอาหารที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย ประชากรในเมืองต้องการความมั่นคงทางอาหาร ความปลอดภัย และความยั่งยืน ในขณะที่ภาคชนบทต้องการโอกาสในการพัฒนา จึงเกิดแนวคิด Rurbanomics ซึ่งเกิดจากการผสมผสานระหว่าง Rural (ภาคชนบท) Urban (ภาคตัวเมือง) Economics (เศรษฐศาสตร์)


            กล่าวคือ Rurbanomics คือการพัฒนาเศรษฐกิจโดยอยู่บนพื้นฐานของการพึ่งพาอาศัยกันของภาคตัวเมืองและภาคชนบท ซึ่งการเชื่อมโยงดังกล่าวจะทำให้เกิดการพัฒนา การสร้างงาน และสร้างความหลากหลายในการประกอบอาชีพทั้งในภาคการเกษตรและนอกภาคการเกษตรในชนบท ซึ่งเป็นการเพิ่มรายได้และพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน เพื่อให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในชนบทได้รับการพัฒนาที่ดีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าประชากรในภาคชนบทจะได้รับประโยชน์ที่มากขึ้นจากการขยายตัวของภาคตัวเมือง
         

        ยกตัวอย่างเช่น ประเทศเซเนกัล ทวีปแอฟริกา ในขณะที่ภาคตัวเมืองเติบโตมากขึ้น พฤติกรรมของประชากรในตัวเมืองก็เปลี่ยนแปลงไป ชีวิตที่ต้องเร่งรีบ จึงนำมาสู่ความต้องการอาหารที่รีบเร่ง อาหารประเภท Ready-to-Cook หรือ Ready-to-Eat หรืออาหารสำเร็จรูปประเภทพร้อมรับประทาน จึงมีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสสำหรับภาคชนบทที่ต้องพัฒนากระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน ที่จะต้องผลิตอาหารที่พร้อมรับประทาน ไม่เพียงแค่ผลิตวัตถุดิบเท่านั้น จากการพัฒนาดังกล่าวจะทำให้เกิดความหลากหลายในการสร้างงานและสร้างอาชีพ ประชากรในชนบทไม่จำเป็นต้องอพยพเข้าไปหางานทำในตัวเมือง Rurbanomics จึงเป็นแนวทางในการยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชากรในชนบท

References 

Steiner, A. and Fan, S. (2019). Rural Revitalization Tapping into New Opportunity. Retrieved from https://www.ifpri.org/publication/2019-global-food-policy-report 26 June 2020

Fan, S. and Badiane, O. (2019). Rurbanomics: The Path to Rural Revitalization in Africa. Retrieved from https://www.ifpri.org/blog/rurbanomics-path-rural-revitalization-africa 26 June 2020