Premium Grade Hom Mali Rice

วันพุธที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

พัฒนาชนบทอย่างไรให้เข้มแข็ง (2)

พัฒนาชนบทอย่างไรให้เข้มแข็ง (2)

         อุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงไก่ในไนจีเรีย เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการเชื่อมโยงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสังคมเมืองไปสู่สังคมชนบท ซึ่งสามารถเพิ่มรายได้และการจ้างงานในชนบทได้ ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจและสังคมเมืองของไนจีเรียมีการเติบโตขึ้นอย่างมาก ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์เพื่อสูงขึ้นทั้งในสังคมเมืองและสังคมชนบท ดังนั้นอุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงไก่จึงได้รับอานิสงส์ไปด้วย อุตสาหกรรมข้าวโพดเลี้ยงไก่นี้สร้างงานให้กับเกษตรกรรายย่อยมากกว่า 8 ล้านคน และตำแหน่งงานอีกกว่าหมื่นตำแหน่งในธุรกิจการค้า โรงสี โลจิสติกส์ การขนส่ง และคลังสินค้า

        
           ไม่น่าเชื่อว่าการเพิ่มขึ้นของการบริโภคเนื้อไก่ตลอดช่วง 15 ปีที่ผ่านมานี้ นำไปสู่การเติบโตของอุตสาหกรรมอาหารไก่ที่เติบโตขึ้นกว่า 6 เท่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างประโยชน์ให้กับทุกผู้คนที่อยู่ในห่วงโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมนี้ SME สามารถเติบโตต่อไปได้ เกษตรกรรายย่อยมีกำไรจากการปลูกข้าวโพดทั้งในพื้นที่ทางภาคเหนือและภาคใต้ และยังต่อยอดไปยังอุตสาหกรรมประมง โดยการปลูกข้าวโพดเพื่อเลี้ยงปลาอีกด้วย ดังนั้นการพัฒนาชนบทให้เข้มแข็ง หัวใจจึงอยู่ที่การสนับสนุนอุตสาหกรรมเกษตร และเชื่อมโยงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของสังคมเมืองกับการผลิตในสังคมชนบท เพื่อที่ประชากรในชนบทจะได้รับประโยชน์จากการเติบโตของสังคมเมืองด้วย ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างงานสร้างรายได้เท่านั้น แต่ยังสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้อีกด้วย


        การเชื่อมโยงตลาดดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ภาคชนบทยังต้องอาศัยการพัฒนาอีกมากเช่นกัน โดยเฉพาะมาตรฐานอาหารปลอดภัย และการศึกษา กล่าวคือการจะยกระดับการผลิตให้มีมูลค่าที่สูงขึ้นได้นั้น ต้องมีมาตรฐานสากล มีการรับรองระบบมาตรฐาน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรม จึงจะสามารถเพิ่มตลาดใหม่ๆ เช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต และร้านอาหาร  โดยเฉพาะปัจจุบันนี้ผู้บริโภค ใส่ใจเรื่องความสะอาดและความปลอดภัยมากขึ้น เกษตรกรและผู้ประกอบการต้องปรับตัว เพื่อพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค แต่การทำมาตรฐานต้องมีการลงทุนและค่าใช้จ่าย รัฐบาลควรให้การสนับสนุนในส่วนนี้เพื่อส่งเสริมเกษตรกรรายย่อยและ SME 
  
        นอกจากนั้น Rob Vos และ Andrea Cattaneo ยังเสนออีกว่าลดภาษีนำเข้า เนื่องจากปัจจัยการผลิตสินค้าเกษตร เช่น ปุ๋ย และเครื่องมือทางการเกษตร ส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้า หากลดภาษีนำเข้าได้ จะเป็นการลดต้นทุนให้กับเกษตรกรรายย่อยได้อีกทางหนึ่ง


        เพื่อให้ได้รับประโยชน์ทางเศรษฐกิจประชากรในชนบทต้องได้รับการศึกษาอย่างเหมาะสม เพื่อพัฒนาทักษะในการประกอบอาชีพ เช่น การทำธุรกิจ และเทคโนโลยี ซึ่งการได้รับการศึกษาจะช่วยให้พัฒนาฝีมือแรงงานและประกอบอาชีพได้หลากหลาย และยกระดับค่าครองชีพอีกด้วย รัฐบาลจึงควรส่งเสริมการพัฒนาการศึกษาทั้งระดับอาชีวะและการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งการอบรมแก่คนทำงาน เพื่อให้มีความรู้สำหรับระบบเศรษฐกิจสมัยใหม่ ครอบคลุมทั้งความรู้ด้านดิจิตอล กระบวนการผลิต มาตรฐานสากล เทคโนโลยี และการทำธุรกิจ

References 

Vos, R. and Cattaneo, A. (2020). Smallholders and Rural People Making Food System Value Chains Inclusive. Retrieved from http://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/133646/filename/133857.pdf July, 3 2020