Premium Grade Hom Mali Rice

วันเสาร์ที่ 12 มิถุนายน พ.ศ. 2564

โควิด-19 กับ เศรษฐกิจอาเซียน

โควิด-19 กับ เศรษฐกิจอาเซียน 

        สถานการณ์โควิด-19 ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในหลายประเทศ ยังทำให้เศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาลงอีกด้วย แต่ดูเหมือนการควบคุมการแพร่ระบาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี โดยเฉพาะจีน ซึ่งเศรษฐกิจน่าจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าประเทศอื่น อย่างไรก็ตามการแพร่ระบาดของโควิด-19 สร้างบาดแผลอย่างซึมลึกให้กับเศรษฐกิจอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุปทานอาหาร ทั้งการจ้างงานและรายได้ Kevin Chen นักวิจัยอาวุโสจาก IFPRI เสนอให้รัฐบาลเพิ่มการลงทุนในห่วงโซ่อุปทานอาหารในด้านเทคโนโลยี การผลิต ให้มีความยั่งยืน และลดความเหลื่อมล้ำอีกด้วย 


 
                                          Photo by Koes nadi on Unsplash

         มาตรการล็อกดาวน์ที่ถูกประกาศใช้ในหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้ว่าจะสามารถควบคุมการแพร่ระบาดได้ดี แต่ก็สร้างความเสียหายให้กับระบบเศรษฐกิจอย่างมาก โดยคาดการณ์ว่า GDP ของภูมิภาคเอเชียจะเติบโตเพียง 0.9% ในขณะที่ GDP ของโลกจะหดตัว 3.5% แต่ GDP ของจีนจะเติบโต 2% ซึ่ง IFPRI คาดการณ์ว่าจีนและเวียดนามจะฟื้นตัวเร็วกว่าประเทศอื่นในเอเชีย ในขณะที่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และพม่า ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 และความบอบช้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบในวงกว้าง เห็นได้จากจำนวนคนยากจนในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี จากจำนวน 93 ล้านคนในเดือนกุมภาพันธ์ เพิ่มเป็น 112 ล้านคนในเดือนมิถุนายน ในปี 2563 หลายครัวเรือนต้องสูญเสียงาน กระทบต่อรายได้ ทำให้ตกอยู่ในภาวะขาดแคลนอาหารอีกด้วย 

          สถานการณ์โควิด-19 กระทบอุตสาหกรรมอาหารทั้งในระดับการผลิต การค้าปลีก และการตลาด อย่างในจีนมีมาตรการชัตดาวน์ในเมือง ทำให้ธุรกิจร้านปิดตัวลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดข้าวด้วยเช่นกัน จึงทำให้ตลาดข้าวมีความอ่อนไหว จะเห็นได้จากเมื่อกลางปี 2563 ราคาข้าวในลาวและไทย ปรับตัวสูงขึ้นกว่า 20%  แต่เมื่อปลายปี 2563 ราคาข้าวปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว 

         อย่างไรก็ตามภูมิภาคเอเชียตะวันออกและอาเซียนจะยังคงเผชิญกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนของโควิด-19 แต่ Kevin Chen ยังมองว่ามีสัญญาณการฟื้นตัว โดยเฉพาะจากกรอบความร่วมมือของจีนและอาเซียน ที่เห็นได้ชัดคือ ในปี 2563 จีนนำเข้าสินค้าจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาลดลง แต่นำเข้าทุเรียนจากไทยและมาเลเซียเพิ่มขึ้น ภายใต้กรอบความร่วมมือ China-ASEAN Free Trade Area และยังมีกรอบความร่วมมือ RCEP (Regional Comprehensive Economic Partnership Agreement ซึ่งสมาชิกประกอบด้วยชาติอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นอีกหนึ่งความร่วมมือที่จะพยุงเศรษฐกิจในภาวะเช่นนี้ ซึ่งรวมถึงการสต๊อกข้าวในคลังสินค้า 787,000 ตัน ซึ่งมาจากสมาชิกอาเซียนจำนวน 87,000 ตัน และจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จำนวน 700,000 ตัน ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งในชาติสมาชิก 

Reference 

 Chen, K., and Zhan, Y. (2021). East and Southeast Asia. Retrieved from  https://ebrary.ifpri.org/utils/getfile/collection/p15738coll2/id/134343/filename/134557.pdf June, 27 2021